ERS ชูเหตุผล 3 ข้อฝากถึง“แพทองธาร ชินวัตร” ควรแก้ไขปรับปรุงร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP2024

465
- Advertisment-

ERS ชูเหตุผล 3 ข้อ ฝากถึง นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะประธาน กพช. ควรแก้ไขปรับปรุงร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP2024 เตือนตัวเลขพยากรณ์ใช้ไฟฟ้าสูงเกินไป ระวังค่าไฟจะแพงขึ้น 

วันพุธที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลา 13.30 น. แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน หรือ ERS พร้อมเทคโนแครตด้านพลังงาน นำโดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ร่วมกันแถลงข่าว แจง 3 เหตุผลหลักควรมีการแก้ไขปรับปรุงร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024) 

1. คาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าของไทยใน 14 ปีข้างหน้าสูงเกินไป อันจะนำไปสู่การเพิ่มกำลังผลิตและสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มากเกินความจำเป็นเพราะทำให้เกิดการวางแผนลงทุนสร้างกำลังผลิตใหม่ที่ไม่มีความคุ้มค่า และเป็นต้นทุนแฝงที่จะเป็นภาระต่อผู้บริโภคภายใต้ระบบการกำหนดค่าไฟฟ้าในปัจจุบันที่ต้นทุนทั้งหมดจะถูกนำไปคำนวณรวมผ่านไปสู่ผู้บริโภค

- Advertisment -

2. ควรส่งเสริมไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความเสถียร(Renewables with Reliability) อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อช่วยทดแทนพลังงานจากฟอสซิลและช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงาน แต่ทั้งนี้ราคาขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนดังกล่าวควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม 

ควรกำหนดให้โครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังลมต้องพ่วงการติดตั้งแบตเตอรี่หรือระบบจัดเก็บพลังงานเพราะต้นทุนได้ลดลงมากและยังมีแนวโน้มลดลงอีก ควรใช้ระบบการประมูลด้านราคาไฟฟ้าเสนอขายเป็นปัจจัยหลักในการคัดเลือกโครงการพลังงานหมุนเวียนใหม่ อีกทั้งนำระบบจัดเก็บภาษีคาร์บอนและระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) มาใช้ในภาคผลิตไฟฟ้าโดยเร็ว เพื่อการพิจารณาที่รอบด้าน ไม่ให้เกิดการลงทุนที่เสียเปล่า (Stranded Assets) ซึ่งจะเป็นภาระต่อผู้บริโภคในระบบที่เป็นอยู่ เพราะในปัจจุบันคิดแต่ต้นทุนทางการเงินเท่านั้น

3. การปรับปรุงโครงสร้างกิจการไฟฟ้าในประเทศให้มีการแข่งขันเสรีให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถขายไฟฟ้าโดยตรงให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยใช้บริการสายส่งและสายจำหน่ายของการไฟฟ้า (Third Party Access: TPA) โดยมีการคิดค่าบริการผ่านสายส่ง/จำหน่าย (Wheeling Charges) ที่เป็นธรรม ซึ่งในภาวะที่กำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ในระดับสูงเช่นปัจจุบัน ค่าไฟฟ้าควรที่จะลดลงตามกลไกของอุปสงค์ อุปทาน หากกิจการไฟฟ้ามีการแข่งขันที่เสรี ทั้งนี้จะต้องแยกระบบสายส่งไฟฟ้าและศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) ให้เป็นอิสระจากการผลิตไฟฟ้า และมีกลไกในการสร้างความสมดุลในระบบไฟฟ้า โดยกำลังผลิตใหม่ไม่ควรเป็นลักษณะของสัญญาซื้อขายระยะยาว (PPA) เช่นในปัจจุบัน ในระบบแข่งขันเสรีจะไม่มีการประมูลและคัดเลือกกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ ทั้งเอกชนและ กฟผ. หรือรัฐวิสาหกิจสามารถจะลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าได้อย่างอิสระ แต่ความเสี่ยงทั้งหมดจะอยู่ที่ผู้ผลิตไฟฟ้า แผน PDP2024 ควรเริ่มเตรียมการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบแข่งขันเสรีได้แล้ว อาทิ มีการประมูลราคาก่อนทำสัญญาซื้อขาย สัญญาใหม่ต้องมีเงื่อนไขให้สามารถเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับระบบแข่งขันเสรีได้ เป็นต้น อนึ่ง โครงการยักษ์อย่างเช่น Digital Hub จะต้องสามารถเลือกทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านระบบสายส่งได้ด้วย

นอกจากนี้ กลุ่ม ERS ยังชี้แจงเหตุผลประเด็นอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ ควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับมาตรการอนุรักษ์พลังงาน ในกรณีที่ต้องสนองความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้ แผน PDP2024 ควรใช้วิธีประเมินต้นทุนรวมและเปิดประมูลราคาเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นๆ ด้วย เช่น สร้างโรงไฟฟ้าก๊าซที่นำเข้า LNG ในภาคใต้ หรือเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (รวมถึงชีวมวลและไฟฟ้าจากขยะ) ในภาคใต้ ไม่ใช่เพียงกำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในภาคตะวันตกซึ่งทำให้เอกชนบางรายได้เปรียบ ERS เห็นว่าพลังงานนิวเคลียร์เป็นทางออกที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหากประเทศไทยจะไปให้ถึง Net Zero จึงเห็นด้วยกับ PDP2024 ที่กำหนดให้มีโรงไฟฟ้า SMR แต่ย้ำว่าต้องเตรียมการล่วงหน้าให้ครบถ้วน นอกจากนี้ไม่ควรให้ กฟผ. รับภาระค่าไฟฟ้าที่รัฐบาลไม่ให้ขึ้น เพราะในที่สุดก็จะต้องเป็นภาระต่อผู้บริโภคอยู่ดี

Advertisment