ERS สนับสนุนสร้างโรงไฟฟ้า SMR ชี้เป็นทางออกสำคัญช่วยประเทศลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

345
ขอบคุณภาพจาก China National Nuclear Corporation (CNNC)
- Advertisment-

หนึ่งในข้อเสนอในแถลงการณ์ของกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน หรือ ERS ซึ่งนำโดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต คุณอนนต์ สิริแสงทักษิณ และคุณอานิก อัมระนันทน์ ซึ่งร่วมกันแถลงข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ สนับสนุนให้มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR (Small Modular Nuclear Reactor) ตามที่ระบุไว้ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 หรือ PDP2024 โดยเสนอแนะเพิ่มเติมให้กำหนดแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อผลักดันโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ให้เกิดขึ้นได้จริง

แถลงการณ์ของ ERS ระบุว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะเป็นทางออกที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหากประเทศไทยต้องการจะไปให้ถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 (พ.ศ. 2608) โดยโรงไฟฟ้า SMR นั้นได้มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ก้าวหน้าไปมาก ดังนั้นการที่ PDP2024 ได้กำหนดให้มีการสร้างโรงไฟฟ้า SMR ในปลายแผนจึงเป็นเรื่องที่ดีที่ควรสนับสนุนและผลักดันให้เห็นผลจริง

อย่างไรก็ตาม ERS เสนอแนะว่าควรกำหนดแผนงานที่ชัดเจน ทั้งด้านการเข้าเป็นภาคีในพิธีสารระหว่างประเทศเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ การออกกฎหมายและกฎระเบียบในด้านการกำกับดูแล มาตรการ และมาตรฐานความปลอดภัย การเตรียมความพร้อมที่จำเป็น การสร้างบุคลากร การกำหนดสถานที่ตั้ง และการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน

- Advertisment -

ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า ปัญหาหนึ่งของการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นตามแผน PDP2024 คือเรื่องคุณภาพของไฟฟ้าที่จะจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงต่อเนื่องกันทุก ๆ วัน โดยไม่มีไฟตกหรือไฟดับ ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่จะมาเสริมความมั่นคงได้ยังเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ดังนั้น เทคโนโลยี SMR จึงเป็นคำตอบที่จะมาช่วยทำหน้าที่โรงไฟฟ้าหลักเสริมความมั่นคงทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล และช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการปรับลดคาร์บอนได้

ขอบคุณภาพจาก International Atomic Energy Agency

ก่อนหน้านี้ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปศึกษาดูงานการพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR “Linglong-1” ของ China National Nuclear Corporation (CNNC) รัฐวิสาหกิจที่บริหารจัดการพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศจีน ตั้งอยู่ที่มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยชี้ให้เห็นว่าโรงไฟฟ้า SMR เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการออกแบบให้มีขนาดเล็กลง แต่มีความปลอดภัยที่สูงขึ้น ด้วยการลดความซับซ้อนของอุปกรณ์ ออกแบบให้ระบบเชื้อเพลิงและระบบผลิตไอน้ำอยู่ภายในโมดูลปฏิกรณ์แบบสำเร็จรูปจากโรงงาน โดยใช้เทคโนโลยีน้ำอัดแรงดัน หรือ PWR (Pressurized Water Reactor) ซึ่งใช้น้ำเป็นตัวกลางระบายความร้อน สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ระบบระบายความร้อนไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า ส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้คือ ยูเรเนียมออกไซด์ (ความเข้มข้นของ U-235 น้อยกว่า 5%) ปล่อยพลังงานความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงนานถึง 24 เดือน มีอายุการใช้งานถึง 60 ปี โดยใช้ขนาดพื้นที่ของโรงไฟฟ้าเพียง 125 ไร่

CNNC กำลังดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR “Linglong-1” กำลังผลิต 125 เมกะวัตต์ (MWe) – ขอบคุณภาพจาก China National Nuclear Corporation (CNNC)

อย่างไรก็ตามในการเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้า SMR นั้น ทาง กฟผ. ให้ข้อแนะนำต่อคณะผู้จัดทำแผน PDP 2024 ว่าควรระบุให้ชัดเจนว่าใครจะเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว เพื่อจะได้เตรียมกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนเป็นการล่วงหน้า โดยมองว่าการสร้างความเข้าใจและการยอมรับจากประชาชนต่อโรงไฟฟ้า SMR เป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว

ปัจจุบันมี 18 ประเทศที่มีการออกแบบและพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น แคนาดา แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สวีเดน อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ ซาอุดิอาระเบีย อาร์เจนติน่า อินโดนีเซีย ในรูปแบบต่างๆ กัน รวมกันมากกว่า 80 รูปแบบ โดยต้นทุนราคาค่าไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า SMR นั้น ปรับลดลงมาใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแล้ว

ปัจจุบัน มีโรงไฟฟ้า SMR 2 แห่งในโลกที่เปิดดำเนินการแล้ว คือ โรงไฟฟ้า Akademik Lomonosov แบบลอยน้ำ ขนาด 70 MWe ของรัสเซีย และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ HTR-PM ของประเทศจีน ขนาด 210 MWe (ขอบคุณภาพจาก China National Nuclear Corporation – CNNC)


ดังนั้น หากสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน จนเกิดการยอมรับ และสามารถผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้า SMR ได้ตามแผน ก็จะช่วยสร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้า พร้อมพาประเทศไทยเดินเข้าใกล้เป้าหมาย Net Zero ไปอีกก้าวได้

Advertisment