“ถนนนางงาม”
ถนนสายเก่าแก่ของเมืองสงขลาที่เคยเงียบเหงาแทบจะเป็นเมืองร้างได้กลับมามีชีวิตชีวา กลายเป็นพื้นที่ที่คนท้องถิ่นได้บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์มีชีวิตแก่ผู้มาเยือน ที่ต้องการมาสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสงขลาอันรุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมทั้งอาหารการกิน การแต่งกาย สถาปัตยกรรมของอาคารบ้านเรือน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ไปจนถึงสุนทรียะแห่งดนตรี ที่โดดเด่น อันเกิดจากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม ชาวจีน และตะวันตก เป็นเวลาหลายศตวรรษ
สิ่งที่สะดุดตาอย่างแรกเมื่อย่างเท้าเข้าไปบนถนนนางงามคือเหล่าอาคารตึกรูปแบบเก่าแก่ ที่ยังอยู่ในสภาพดีท้ากาลเวลา เพราะมีการซ่อมแซมบำรุงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งกว่าจะเห็นแบบนี้ได้ก็คิดว่าคงต้องใช้พลังความคิดและพลังเงินไม่น้อย
ถ้ายังไม่รู้จะเริ่มต้นจุดไหนดี ขอแนะนำให้ไปที่ “Kid+Dee @ Historic Center” หรือ “ศูนย์การเรียนรู้ย่านเมืองเก่า คิด บวก ดี” ที่มีประติมากรรม “ชายหาบน้ำ” สะท้อนวิถีชีวิตของชาวสงขลาสมัยก่อน ยืนอยู่ด้านหน้าศูนย์ฯ เพื่อคอยต้อนรับคนที่มาเยี่ยมชม และที่แห่งนี้ยังจะให้ข้อมูลด้วยว่า ย่านเมืองเก่าแห่งนี้มีอะไรดีที่ต้องชม…
ที่นี่เรามีโอกาสได้พบกับ ผศ.ยงยุทธ หนูเนียม รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ไกด์กิตติมศักดิ์ที่ให้เกียรติพาพวกเราทัวร์ถนนสายนางงามตลอดทริปนี้
อาจารย์ยงยุทธ์เล่าว่า เมื่อ 10 ปีก่อน ที่นี่แทบจะเป็นเมืองร้าง คนหนุ่มสาวชาวสงขลาต่างทิ้งบ้านไปไล่ตามความฝันหารายได้ที่เมืองกรุง ปล่อยให้คนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายเฝ้าบ้าน ไม่มีใครสนใจดูแลเมืองเก่าที่กำลังทรุดโทรม แต่ทุกคนก็เห็นตรงกันว่า เมืองสงขลาและถนนสายนี้มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เป็นแหล่งชุมชนเก่าแก่มีความสวยงาม ที่ควรจะร่วมกันรักษาเพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป
“เมืองสงขลามี ‘ต้นทุน’ ทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมที่มีคุณค่ามากมาย ทางมหาวิทยาลัยฯ ชาวบ้าน และภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคมจึงได้พูดคุยช่วยกันคิดว่า เราจะปรับปรุงอาคารทุกหลังในพื้นที่ยังไง โดยยังคงรูปลักษณ์เดิมไว้ ซึ่งเป็นเรื่องแรกๆ ที่พวกเราคิดกันเพื่อฟื้นสงขลา สำหรับศูนย์คิด บวก ดี แห่งนี้ เคยเป็นโรงแรมนางงาม ซึ่งเราเอามาตกแต่งใหม่ให้เป็นศูนย์ประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในการอนุรักษ์เมืองสงขลา ตลอดจนเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ชาวสงขลาและนักท่องเที่ยวเห็นคุณค่าของย่านเมืองเก่าสงขลา เกิดความหวงแหนในวัฒนธรรมอันทรง คุณค่าของย่านเมืองเก่าแห่งนี้”
พอคุยถึงตอนนี้ คุณรังษี รัตนปราการ นายกภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม เจ้าของโรงสีแดง “หับ โห้ หิ้น” กำลังสำคัญอีกคนที่ได้ร่วมนำความมีชีวิตชีวากลับคืนสู่เมืองสงขลา ด้วยความเป็นห่วงที่เห็นย่านเมืองเก่าสงขลาที่ตนเองเติบโตมาทรุดโทรมลงไป จึงได้ร่วมกับประชาชนที่มีความคิดเดียวกันจัดตั้งภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคมเพื่อค้นคว้า รวบรวม ตลอดจนเผยแพร่ประวัติและคุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ของเมืองสงขลาแก่คนรุ่นหลัง โดยได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจาก มทร. ศรีวิชัย รวมถึงจากหน่วยงานรัฐและเอกชนที่มาผนึกกำลังอนุรักษ์ย่านเมืองเก่าสงขลาแห่งนี้
ทุกวันนี้… ถ้าใครมาเที่ยวบนถนนสายนี้คงจะเห็นความมีชีวิตชีวาของชุมชน เห็นคนหนุ่มสาวเป็นเจ้าของร้านหนังสือเล็กๆ ร้านกาแฟเก๋ๆ ร้านอาหารท้องถิ่นรสเด็ด ยิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมต้อนรับคนมาเยือน ต่างจากเมื่อหลายปีก่อนที่ไกด์กิตติมศักดิ์บอกว่า เมือง (เกือบ) ร้างมาแล้ว
จนอดสงสัยไม่ได้ว่า กลายเป็นแบบนี้ได้ยังไง?
และก็ได้คำตอบจากอาจารย์ยงยุทธว่า การอนุรักษ์ของเก่า มรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ตลอดไป ต้องสร้างรายได้ให้ได้ด้วย ไม่เช่นนั้นคงไม่มีใครอยากจะอนุรักษ์ การฟื้นฟูชุมชนย่านเมืองเก่าสงขลาใช้แนวคิดนี้ ทำให้ตอนนี้มีนักธุรกิจรุ่นใหม่ในสงขลา ซึ่งก็คือลูกหลานชาวสงขลาที่เคยไปทำงานเมืองกรุงต่างทยอยกันกลับบ้าน มาอนุรักษ์บ้านของตัวเอง ทำงานที่บ้านเกิดเมืองนอน ใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์อย่างมีความสุข
การฟื้นชุมชนเมืองเก่าสงขลายังได้รับการสนับสนุนจาก “บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด” มาตั้งแต่ปี 2552 โดยสนับสนุนงบประมาณกว่า 5,000,000 บาท เพื่อฟื้นฟูบริเวณถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม และยังได้สนับสนุนการจัดทำ “ป้ายสื่อความหมาย” เพื่อจัดทำป้ายให้กับร้านดั้งเดิมบนถนนนางงาม เพื่อให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือน ซึ่งมีทั้งภาษาไทย อังกฤษ และจีน และในปีนี้ยังได้มอบงบประมาณ 1,000,000 บาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินนงานของ “ศูนย์ คิด บวก ดี” อีกด้วย
คุณไพโรจน์ กวียานันท์ ซีอีโอของเชฟรอนฯ บอกกับเราว่า สงขลาเปรียบเหมือนบ้านอีกหลังของเชฟรอนฯ เพราะชาวเชฟรอนเข้ามาทำงานในอ่าวไทย อยู่ในพื้นที่จังหวัดนี้มานานกว่า 40 ปี มีความผูกพันกับที่นี่ พร้อมจะทำงานร่วมกับคนในชุมชนเพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ และเศรษฐกิจในจังหวัดดีขึ้น
ระหว่างที่พูดคุยกัน เราก็เดินกันไปเรื่อยๆ จากหัวถนน ไกด์กิตติมศักดิ์ได้พาลูกทัวร์หลายสิบชีวิตเดินชมบ้านเรือน แวะทักทายคนรู้จัก ชมร้านค้าสองข้างถนนเป็นระยะๆ ก่อนปิดท้ายกันที่ “โรงสีแดง หับ โห้ หิ้น” ของคุณรังษี ที่เห็นสีแดงชัดเจนตั้งแต่ไกล เมื่อเดินผ่านประตูด้านหน้าสู่พื้นที่ด้านใน ก็พบกับลานกว้าง มีท่าเทียบเรือที่มีวิวทะเลสาบสงขลาให้ชาวคณะได้ดื่มด่ำและถ่ายรูปกันอย่างเพลิดเพลิน ส่วนในใจนั้นก็ชื่นชมความร่วมมือร่วมใจของบรรดาคนรักสงขลา จนทำให้ “ถนนนางงาม” กลับมาอวดเสน่ห์และตราตรึงใจผู้มาเยือนได้แบบนี้ การผลักดันย่านเมืองเก่าสงขลาสู่มรดกโลกจึงไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินฝัน…
“นอกจากได้ฟื้นฟูเมืองจนเป็นมรดกท้องถิ่น มรดกของชาติแล้ว ตอนนี้คนเมืองเก่าสงขลาพร้อมแล้วที่จะช่วยกันผลักดันย่านเมืองเก่าสงขลาสู่มรดกโลก ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อให้ภารกิจนี้ก้าวสู่เป้าหมายในที่สุด” คุณรังษีกล่าวทิ้งท้าย