จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือที่ผลิตจากแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบมีเพิ่มสูงขึ้นและเกิดภาวะขาดแคลน
แต่แอลกอฮอล์ชนิดใดที่สามารถนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือได้? เป็นแอลกอฮอล์ชนิดเดียวกับที่ใช้ผสมเป็นเชื้อเพลิง หรือไม่? ENC DATA มีคำตอบ
แอลกอฮอล์ มีหลายชนิด เรียกเหมือนกัน แต่ใช้ไม่เหมือนกัน
🛢ใช้ผสมเป็นเชื้อเพลิง
แอลกอฮอล์ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง เรียกว่า “เอทานอลแปลงสภาพ” มีความบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 99.5 โดยปริมาตร และต้องมีการแปลงสภาพด้วยน้ำมันก่อนขนส่งออกจากโรงงาน ตามประกาศกรมสรรพสามิต
• ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ชนิดต่างๆ
• เป็นสารเพิ่มค่าออกเทนในน้ำมันแก๊สโซฮอล์
• มีน้ำมันเบนซินเป็นส่วนผสม จึงไม่สามารถนำไปใช้ทางการแพทย์ได้
🧪💊ใช้ในทางการแพทย์
แอลกอฮอล์ในทางการแพทย์ มีหลายชนิด ความเข้มข้นที่นิยมใช้อยู่ในช่วง ร้อยละ 60-90 โดยปริมาตร เช่น แอลกอฮอล์ ที่มีส่วนผสมของเอทานอล ร้อยละ 80 โดยปริมาตร และ ไอโซโพรพานอล ร้อยละ 5 โดยปริมาตร จะสามารถยับยั้งไวรัสที่มีเยื่อหุ้มได้
• ฆ่าเชื้อไวรัสได้
• ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์
• นำไปเป็นส่วนผสมของเจลล้างมือ (ต้องใช้แอลกอฮอล์ร้อยละ 70 โดยปริมาตร ขึ้นไป)
โดยบริษัทผู้ค้าน้ำมันในประเทศไทย ปัจจุบันมีสต็อกเอทานอลแปลงสภาพ ซึ่งไม่ใช่แอลกอฮอล์ที่ใช้ในทางการแพทย์ แต่เพื่อใช้ผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง
เอทานอลที่ผู้ค้าน้ำมันซื้อออกจากโรงงานผู้ผลิตเอทานอลต้องได้รับการแปลงสภาพ (Denature) ตามกฎหมาย ด้วยการผสมน้ำมันเบนซินก่อน ซึ่งเป็นกระบวนการควบคุมของรัฐ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่สามารถนำมาใช้ในวัตถุประสงค์อื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ในการบริโภคและเชิงทางการแพทย์ นอกจากนั้น ผู้ที่สามารถซื้อเอทานอลเพื่อนำไปทำเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายด้วย
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตได้ยกเว้นภาษีเป็นการชั่วคราวให้กับโรงงานผลิตเอทานอล ซึ่งตามปกติแล้วต้องเสียภาษีสรรพสามิตเมื่อส่งเอทานอลให้แก่โรงงานสุรา เพื่อเปิดทางให้โรงงานเหล่านั้นสามารถส่งเอทานอลให้แก่กลุ่มผู้ผลิตยา เครื่องสำอาง และสมุนไพร ที่จะนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบได้ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนดังกล่าว