ENC Data : ส่องราคาขายปลีกน้ำมันไทยเทียบอาเซียนและโลก พบยังถูกกว่าหลายประเทศ

22056
- Advertisment-

ENC Data : ส่องราคาหน้าปั๊มน้ำมันไทยกับราคาในต่างประเทศ ดีเซลไทยยังต่ำกว่าราคาเฉลี่ย

ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงปรับขึ้น-ลงตามปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อโครงสร้างราคาน้ำมัน รวมทั้งราคา น้ำมันดิบในตลาดโลก เนื่องจากไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบบางส่วนมากลั่นในประเทศเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้

จากข้อมูลราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน และอีกหลายประเทศที่เป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจของโลก ก็พบว่า ราคาน้ำมันในประเทศไทย อยู่ในระดับกลางๆ คือ ไม่ได้เป็นประเทศที่มีราคาน้ำมันแพงที่สุด และไม่ใช่ประเทศที่ราคาน้ำมันถูกที่สุด ทั้งในส่วนของเบนซิน และดีเซล

- Advertisment -

เมื่อดูในกลุ่มประเทศอาเซียน ราคาเบนซิน 95 ของไทย ณ วันที่ 4 ก.ย. 2562 อยู่ที่ 34.76 บาทต่อลิตร ถูกกว่า สปป.ลาว ซึ่งอยู่ที่ 37.90 บาทต่อลิตร และสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ที่ 47.07 บาทต่อลิตร แต่ถ้าเป็นแก๊สโซฮอล์ 95 ราคาของไทยอยู่ที่ 27.35 บาทต่อลิตร ถูกกว่าราคาน้ำมันขายปลีกในกัมพูชาและฟิลิปปินส์ แต่ราคาสูงกว่าในเวียดนาม อินโดนีเซีย เมียนมา และบรูไน

ในขณะที่เมื่อนำไปเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก ราคา ณ วันที่ 5 ก.ย. 2562 ราคาเบนซินของไทย ต่ำกว่า ญุี่ปุ่น  อังกฤษ รวมถึงนอรเวย์ และฮ่องกง แต่ราคายังแพงกว่าในสหรัฐอเมริกา และซาอุดิอาระเบีย

สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วนั้น ถ้ามองเฉพาะในกลุ่มอาเซียน ราคาของไทยต่ำกว่าหลายประเทศ โดยราคาขายปลีก ณ วันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ 25.79 บาทต่อลิตร ถูกกว่าอินโดนีเซียที่ขายราคา  25.97 บาทต่อลิตร และถูกกว่ากัมพูชา ที่ขายราคา 26.02 บาทต่อลิตร สปป.ลาว ที่ขายราคา 30.51 บาทต่อลิตร และสิงคโปร์ ที่ขายราคา 38.90 บาทต่อลิตร

และเมื่อเทียบกับในระดับโลก ราคาของไทยยังถูกกว่าค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันดีเซลของทุกประเทศที่นำมาเทียบเคียงในที่นี้ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่  30.59 บาทต่อลิตร และยังถูกกว่า อินเดีย ญี่ปุ่น อังกฤษ นอร์เวย์ และฮ่องกง แต่มีราคาแพงกว่าในสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย

***อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันของแต่ละประเทศ ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันในเชิงการแข่งขัน เช่น ราคาขายปลีกภายในประเทศของไทย ไม่สามารถเปรียบเทียบในเชิงแข่งขันกับราคาของประเทศอย่าง ซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย และบรูไน ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน***

เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันแต่ละประเทศแตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะมาจากนโยบายการจัดเก็บภาษี หรือการจัดเก็บเข้ากองทุนต่างๆ ในกรณีของประเทศไทย เพื่อใช้ในภารกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ใช้เป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพราคา ไม่ให้ขึ้น-ลง รุนแรง จนอาจกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ในขณะที่ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน นั้น ก็ถูกภาครัฐกำกับเอาไว้ไม่ให้สูงเกินไปจนเกิดผลกระทบต่อบริโภค

***ข้อมูลอ้างอิง ประมวลจาก globalpetroprices.com และ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

Advertisment