บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group โดย ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ร่วมแชร์ประสบการณ์การขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการลงทุน Linden Cogen และ APEX ในสหรัฐอเมริกา การดูแลความหลากหลายทางชีวภาพรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าที่ดำเนินธุรกิจและการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศผ่านมูลนิธิไทยรักษ์ป่า พร้อมเสนอกลไก 6 ด้าน ที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) อย่างยั่งยืน บนเวทีเสวนา “CEO Forum: Climate Action Leading Towards Net Zero” ภายในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567
ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group กล่าวว่า EGCO Group ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงาน ตามทิศทาง “Cleaner, Smarter and Stronger to drive sustainable growth” ที่ให้ความสำคัญกับการร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งเป็นประเด็นที่มีผลกระทบรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยได้ประกาศเป้าหมายและแนวทางมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 3 ระยะ ได้แก่
• เป้าหมายระยะสั้น เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ลง (Carbon Emissions Intensity) 10% ภายในปี 2030 ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน ได้แก่ การนำไฮโดรเจนหรือแอมโมเนียมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้า (Hydrogen or Ammonia co-firing) และนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) มาปรับปรุงโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ควบคู่กับการลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก เช่น ไฮโดรเจน
• เป้าหมายระยะกลาง มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2040 ผ่านการลงทุนในพลังงานสีเขียวและพลังงานสะอาด โดยเฉพาะไฮโดรเจน อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนขยายการประยุกต์ใช้ CCUS ในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องอยู่ในปัจจุบัน
• เป้าหมายระยะยาว บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 จากการปรับปรุง Portfolio ให้เป็นพลังงานสะอาด 100% ตลอดจนการติดตั้ง CCUS ในโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการทุกแห่งและขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับไฮโดรเจนตลอดห่วงโซ่คุณค่า
EGCO Group ผลักดันแนวทางมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการลงทุนที่สำคัญในสหรัฐฯ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงโรงไฟฟ้า Linden Cogen หน่วยที่ 6 กำลังผลิต 172 เมกะวัตต์ ในเมืองลินเดน รัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่ง EGCO Group ถือหุ้น 28% ให้สามารถรองรับก๊าซที่มีไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมกับก๊าซธรรมชาติ ซึ่งช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้านี้ลงได้ประมาณ 10% และการลงทุนในสัดส่วน 17.46% ในบริษัท เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง แอลแอลซี (APEX) ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ ที่มีกำลังผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ไฮโดรเจน และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ ใน Pipeline รวมกว่า 200 โครงการ กำลังผลิตรวมกว่า 56,000 เมกะวัตต์ APEX จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ EGCO Group สามารถเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีสัดส่วน 21% ของ Portfolio ในปัจจุบัน เป็น 30% ภายในปี 2030
นอกจากนี้ EGCO Group ยังได้ดูแลสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ ผ่านการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น โรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช มีโครงการจัดทำข้อมูลฐานสัตว์บ่งชี้ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น ตลอดจนดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพลังงาน ผ่านมูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลที่ EGCO Group ก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานมากว่า 22 ปี รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุลและยั่งยืน เช่น โครงการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ป่าต้นน้ำใน จ.เชียงใหม่ และ จ.นครศรีธรรมราช และโครงการ “ฟื้นฟูป่า รักษาตาน้ำ” จ.ชัยภูมิ เป็นต้น
“EGCO Group มุ่งมั่นดูแลสิ่งแวดล้อมและสร้างการเติบโตทางธุรกิจที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ขององค์กรในปี 2050 ควบคู่กับการสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทยในปี 2065 ซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ที่ต้องการกลไกการส่งเสริมใน 6 ด้าน คือ 1.การกำหนดนโยบาย Net Zero ที่ชัดเจน 2.การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ ทั้งภาคสมัครใจและภาคบังคับ 3.การปรับโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐเพื่อรองรับนโยบาย Net Zero 4.การพัฒนาศักยภาพและจำนวนบุคลากรให้เพียงพอ 5.การพัฒนาแพลตฟอร์มเก็บและแบ่งปันข้อมูล 6.การออกมาตรการส่งเสริมในด้านต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีความรู้ความเข้าใจเพื่อปรับตัวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การสร้างตลาดซื้อขายคาร์บอนและใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) การส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี การพัฒนาให้เกิดห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain) การให้สิทธิประโยชน์และสร้างแรงจูงใจ เช่น มาตรการด้านภาษี และการสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น นอกจากนี้ อีกสิ่งที่สำคัญคือ การส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำร่วมกันอย่างยั่งยืน” ดร.จิราพร กล่าวสรุป