ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกที่เข้าร่วมแก้ไขปัญหาโลกเดือด เพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ด้วยการกำหนดเป้าหมายเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) สู่สังคมคาร์บอนต่ำในระดับประเทศ โดยให้คำมั่นในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ (COP) กำหนดการบรรลุถึงความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และเข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608)

ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group กล่าวว่า EGCO Group ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานที่เกี่ยวเนื่องชั้นนำมากว่า 32 ปี ได้ขานรับและร่วมขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาโลกเดือดของประเทศไทย โดยการกำหนดเป้าหมายมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำขององค์กร 3 ระยะ ได้แก่ เป้าหมายระยะสั้น คือ การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ผ่านการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นบันไดก้าวสู่เป้าหมายระยะกลางคือ การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2040 (พ.ศ.2583) และเป้าหมายระยะยาว คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) ตามลำดับ
EGCO Group มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นในปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 6,993 เมกะวัตต์ (รวมโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วและโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) ตั้งอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังผลิตดังกล่าวมาจากพลังงานหมุนเวียนรวม 1,437 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 21% ของกำลังผลิตทั้งหมด ทั้งประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังน้ำ ชีวมวล เซลล์เชื้อเพลิง และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย กำลังผลิตรวม 213 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าและโครงการในต่างประเทศ (สปป.ลาว ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา) กำลังผลิตรวม 1,224 เมกะวัตต์

สำหรับการขยายการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยนั้น EGCO Group พร้อมเข้าร่วมโครงการพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่ภาครัฐกำหนด โดยเฉพาะ “โครงการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567” หรือ Re Big Lot ในรอบที่ 2 และรอบที่ 3 กำลังผลิตรวมประมาณ 3,600 เมกะวัตต์ (เพิ่มเติมจากโครงการก่อนหน้า หรือ RE Big Lot รอบที่ 1 กำลังผลิตรวม 5,200 เมกะวัตต์)
สำหรับ RE Big Lot รอบที่ 2 ได้ประกาศรับซื้อในกำลังผลิตรวม 2,180 เมกะวัตต์ก่อน (แบ่งเป็นโครงการพลังงานลม ไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์) ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1,488 เมกะวัตต์ จะเปิดรับซื้อเป็นการทั่วไปในรอบที่ 3 ในอนาคต โดย EGCO Group ได้ยื่นความประสงค์นำโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินมากกว่า 10 โครงการ ที่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) แล้วในรอบที่ 1 เข้าร่วมโครงการ RE Big Lot ในรอบที่ 2 เรียบร้อยแล้ว
ดร. จิราพร กล่าวว่า “EGCO Group เชื่อมั่นในศักยภาพของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ที่จะนำเข้าร่วมประมูล RE Big Lot รอบที่ 2 เนื่องจากเรามีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและการบริหารโครงการมาอย่างยาวนาน มีพันธมิตรที่แข็งแรงและมีประสบการณ์ รวมทั้งมีความคุ้นเคยกับพื้นที่ในการพัฒนาโครงการ ที่จะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสูงได้”
“หาก EGCO Group ประสบความสำเร็จและได้รับคัดเลือกใน RE Big Lot รอบที่ 2 จะช่วยให้ EGCO Group มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใน Portfolio เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2573”
การเข้าร่วมโครงการ RE Big Lot รอบที่ 2 และรอบที่ 3 ตลอดจนการเตรียมความพร้อมเพื่อร่วมประมูลไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนครั้งใหม่ในอนาคตของ EGCO Group สอดคล้องกับแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ตามเป้าหมายของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP 2024 ที่มุ่งผลักดันประเทศไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดและสังคมคาร์บอนต่ำ

นอกจากนั้น EGCO Group ยังพร้อมพัฒนาโรงไฟฟ้าและเทคโนโลยีเชื้อเพลิงสะอาดอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับแผน PDP 2024 ได้แก่ โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อขายไฟฟ้ากลับมายังไทย ผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และมีแผนจะเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้า IPP ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักที่มีความสำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและสามารถช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่ง EGCO Group มีโรงไฟฟ้าขนอม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ที่ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์และมีความพร้อมทั้งในด้านระบบสายส่งไฟฟ้าและแหล่งเชื้อเพลิงอยู่แล้ว รวมถึงมีความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า
ในขณะเดียวกัน EGCO Group ยังได้ศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขายไฟฟ้าตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) ในอนาคตด้วย รวมถึงการศึกษาโอกาสในการต่ออายุโรงไฟฟ้าเดิมออกไปอีกด้วย
นอกเหนือจากการขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ EGCO Group ยังมีแผนจะปรับปรุงโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักที่ดำเนินการอยู่แล้ว ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การศึกษาความเป็นไปได้เชิงเทคนิคในการนำแอมโมเนียมาเป็นเชื้อเพลิงผสม (Ammonia co-firing) ในโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี จ.ระยอง ตลอดจนการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage – CCUS) ที่โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี จ.ระยอง และโรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีรรมราช รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ เพื่อศึกษาและแสวงหาโอกาสการลงทุนในเทคโนโลยีไฮโดรเจนตลอดห่วงโซ่อุปทาน

สำหรับการลงทุนในต่างประเทศ EGCO Group มีการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญและอยู่ระหว่างการก่อสร้างในต่างประเทศ 2 แห่ง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Yunlin ในไต้หวัน ที่ EGCO Group ถือหุ้น 26.56% และการลงทุนใน APEX หรือ บริษัท เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง แอลแอลซี ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา โดย EGCO Group ถือหุ้น 17.46%
สำหรับโครงการ Yunlin กำลังผลิตรวม 640 เมกะวัตต์ ล่าสุดได้ติดตั้งเสากังหันลม (Monopiles) และกังหันลมผลิตไฟฟ้า (Wind Turbine Generators – WTGs) เสร็จครบ 80 ต้นแล้ว รวมทั้งได้วางสายเคเบิลเพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 78 เส้น จาก 81 เส้น ความก้าวหน้าดังกล่าวตอกย้ำความมั่นใจว่า โครงการฯ จะสามารถก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบครบทั้ง 640 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปีนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์คาดว่าจะสร้างกระแสเงินสดให้ EGCO Group เฉลี่ย 2,000 ล้านบาทต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกของการดำเนินโครงการ
สำหรับการลงทุนใน APEX ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ ที่มีทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ไฮโดรเจน และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่แบบตั้งเดี่ยว ใน Pipeline รวมกว่า 200 โครงการ กำลังผลิตรวมกว่า 56,000 เมกะวัตต์นั้น จะช่วยผลักดันให้ EGCO Group สามารถเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ถึง 30% ในปี 2030 ตามเป้าหมายของบริษัท โดย APEX มีโมเดลธุรกิจแบบไฮบริด คือ พัฒนาโครงการเพื่อเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เองบางส่วน และจำหน่ายโครงการออกไปบางส่วนเพื่อพัฒนาโครงการอื่นต่อไป ทำให้แนวทางการดำเนินธุรกิจของ EGCO Group เปลี่ยนจาก “ผลิตไฟฟ้า และขายไฟฟ้า” เพียงอย่างเดียว เป็น “พัฒนาโรงไฟฟ้า ขายไฟฟ้า และขายโรงไฟฟ้า” ด้วย

ดร.จิราพรกล่าวว่า “การลงทุนใน APEX จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับ EGCO Group ในระยะยาว เนื่องจากการพัฒนาโครงการของ APEX สามารถทดแทนโรงไฟฟ้าที่กำลังจะทยอยหมดอายุสัญญา จึงสร้างการเติบโตในรูปแบบใหม่ให้ EGCO Group ไปพร้อมกัน และยังสนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้ EGCO Group อย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก APEX เป็นทั้งผู้พัฒนาโครงการ (Developer) ผู้บริหารโครงการ และเจ้าของโครงการ”
นอกจากนี้ EGCO Group ยังได้ลงทุนใน บริษัท พีที จันทรา ดายา อินเวสตาสิ (PT Chandra Daya Investasi – CDI) บริษัทผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท พีที จันทรา อศรี แปซิฟิก ทีบีเค (PT Chandra Asri Pacific Tbk – CAP) ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านเคมีและสาธารณูปโภคครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 30% EGCO Group ทำงานร่วมกับ CAP ซึ่งถือหุ้น 70% ใน CDI อย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมกันพัฒนา CDI ให้เป็นแพลตฟอร์มการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน โดยมุ่งเน้นการขยายและการพัฒนาโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบันของ CDI ควบคู่กับการลงทุนเชิงกลยุทธ์ ทั้งในรูปแบบการร่วมทุนกับพันธมิตร การควบรวมกิจการ และความร่วมมือทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนการขยายฐานลูกค้าและรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
“แผนการดำเนินงานทั้งหมดของ EGCO Group ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจที่สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ซึ่งไม่เพียงเป็นโอกาสทางธุรกิจของภาคเอกชนเท่านั้น แต่ยังช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่เป็นฐานการลงทุนของ EGCO Group ให้ค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านจากการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลัก ไปสู่พลังงานสะอาดได้อย่างมั่นคง เพื่อบรรลุเป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ ทั้งมีส่วนช่วยลดวิกฤติโลกเดือด พร้อมกับการดูแลความมั่นคงทางพลังงานได้อย่างยั่งยืน” ดร. จิราพร กล่าวสรุป
#EGCO #EGCOGroup #พลังงานสะอาด