EGCO พร้อมเดินหน้าโครงการไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 รอนโยบายรัฐให้ชัดเจน

133
- Advertisment-

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO เกาะติดสถานการณ์ต่างประเทศใกล้ชิด มั่นใจนโยบายสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้า ไม่กระทบโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซฯ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ระบุพร้อมเดินหน้าลงทุนโครงการไฟฟ้าสีเขียวรอบ 2 ทันทีหากนโยบายรัฐชัดเจน  ชี้แม้รัฐคุมค่าไฟฟ้า แต่ไม่กระทบผลการดำเนินงาน เตรียมจ่ายปันผลงวดครึ่งหลังปี 2567 อัตรา 3.25 บาทต่อหุ้น วันที่ 23 เม.ย. 2568

น.ส.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO เปิดเผยในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) วันที่ 11 เม.ย. 2568 ว่า ที่ประชุมฯ รับทราบผลการดำเนินงานประจำปี 2567 โดย EGCO Group สามารถบริหารและจัดการการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ต้นทุนเชื้อเพลิง ต้นทุนทางการเงิน และสินทรัพย์ในทุกประเทศที่เข้าไปลงทุน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้บริษัทรับรู้รายได้รวม 46,341 ล้านบาท โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน 9,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% และมีกำไรสุทธิ 5,412 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,796 ล้านบาท หรือ 165% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของ EGCO Group มีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในต่างประเทศ ได้แก่ โครงการ Yunlin ในไต้หวัน ที่มีปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปัจจุบัน โครงการ Yunlin ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบครบ 80 ต้น รวมกำลังผลิต 640 เมกะวัตต์ เรียบร้อยแล้ว โครงการ Quezon ในฟิลิปปินส์ มีปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โครงการ Nam Thuen 2 ใน สปป.ลาว มีรายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ปัจจัยบวกสำคัญยังมาจากโรงไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ APEX ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ ที่รับรู้รายได้จากการขายโครงการเพิ่มขึ้น และกลุ่มโรงไฟฟ้า Compass ที่ EGCO Group เริ่มรับรู้รายได้จากการเข้าไปถือหุ้น 50% เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2567    

- Advertisment -

อีกทั้ง EGCO ยังได้วางแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจระยะ 3 ปี (ปี 2568-2570) โดยมีเป้าหมายสร้างความแข็งแกร่ง  3 ด้าน ได้แก่ การเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้และผลกำไรอย่างยั่งยืน การบรรลุเป้าหมายองค์กรคาร์บอนต่ำ และการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

ส่วนกรณีรัฐบาลสหรัฐอเมริกามีนโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ นั้น เบื้องต้นการลงทุนโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ ของบริษัทฯ มี 2 ประเภทเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันการลงทุนในโครงการที่มีการเจรจาต้นทุนการก่อสร้างไปแล้วนั้นได้กำหนดราคาเรียบร้อยแล้วจึงไม่มีผลกระทบ แต่การลงทุนในโครงการถัดไปที่อาจต้องนำเข้าอุปกรณ์ เช่น แผงโซลาร์เซลล์จากจีน ก็ต้องติดตามผลกระทบในระยะต่อไป ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติจะเป็นการใช้ก๊าซฯ จากแหล่งก๊าซในสหรัฐฯ ดังนั้นในระยะสั้นยังไม่มีผลกระทบเกิดขึ้น แต่หากการก่อสร้างโครงการมีความล่าช้าในระยะถัดไปก็อาจมีผลกระทบเกิดขึ้นได้

ขณะที่การลงทุนในสหรัฐฯ ของบริษัทฯ จะมีความเสี่ยงจากปัญหาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับกลุ่มฮูตีและกลุ่มประเทศตะวันออกกลางหรือไม่นั้น ทาง EGCO มีคณะกรรมการกำกับความเสี่ยงฯ ที่จะมีการจัดประชุมทั้งวาระปกติและวาระพิเศษเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทฯ ในสหรัฐฯ เช่นเดียวกับโครงการลงทุนของบริษัทฯ ในประเทศไต้หวันที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งบริษัทฯ ยังคงติดตามสถานการณ์การลงทุนอย่างใกล้ชิด

ส่วนกรณีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศ ในรูปแบบ Feed-in Tarff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงในส่วนพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน หรือ RE Big lot รอบที่ 2 นั้น ทาง EGCO มีความพร้อมที่จะลงทุน แต่ยังรอความชัดเจนจากภาครัฐในการพิจารณาข้อกฎหมายต่างๆ ขณะนี้ภาครัฐยังชะลอโครงการดังกล่าวไว้ ซึ่งหากรัฐมีนโยบายที่ชัดเจนออกมา EGCO ก็พร้อมเดินหน้าการลงทุนในทันที โดย RE Big lot รอบที่ 2 EGCO ได้รับการคัดเลือกจำนวน 11 โครงการ กำลังผลิตติดตั้งรวม 448 เมกะวัตต์ ที่เป็นการลงทุนในทั้งรูปแบบผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระยะเวลา 25 ปี และรูปแบบผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) ที่จะมีสัญญา PPA กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ระยะเวลา 25 ปี อัตรารับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) ประมาณ 2.1679 บาทต่อหน่วย 

ขณะที่นโยบายปรับลดค่าไฟของภาครัฐ เชื่อว่าจะไม่กระทบผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศมากถึง 56% และ รายได้ 44% เป็นการลงทุนในประเทศไทย ขณะเดียวกันการลงทุนโครงการในไทย บริษัทฯ ได้บริหารจัดการต้นทุนต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการลงทุนและสร้างผลตอบแทนที่ดี ซึ่งนโยบายคุมค่าไฟดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจ่ายเงินปันผลของบริษัทฯ  โดยยังคงนโยบายจ่ายเงินปันผลในสัดส่วน 40% ของกำไรสุทธิ

โดยที่ประชุมฯ มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลสําหรับผลการดําเนินงานครึ่งปีหลังของ ปี 2567 จะจ่ายจากกําไรสุทธิ ในอัตราหุ้นละ 3.25 บาท สําหรับหุ้นจํานวน 526,465,000 หุ้น เป็นจํานวนเงินรวม 1,711 ล้านบาท โดยมีกําหนดการจ่าย ในวันที่ 23 เม.ย. 2568 ทั้งนี้ อัตราการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวคิดเป็น 63.23% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่านโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทฯ ที่กําหนดไว้

อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังคาดหวังที่จะมีกำไรสุทธิกลับไปแตะระดับ 10,000 ล้านบาทเหมือนในอดีต ซึ่งขึ้นอยู่กับผลประกอบการและโครงการลงทุนในอนาคต โดยปัจจุบันบริษัทมีแผนขยายการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงมีการเจรจาแผนการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) ในหลายโครงการ และพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าระยะยาว เพื่อสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่เติบโตอย่างต่อเนื่องให้กับบริษัทฯ  

Advertisment