ในยุคที่การบริโภคเปลี่ยนไป การใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น ผลลัพธ์จากการใช้พลังงานมีหลายทิศทาง จึงเกิดการปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่ของหลาย ๆ ภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่การดูแลรักษาสมดุลให้เกิดระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
ในความต้องการใช้พลังงานที่หลากหลาย ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ทุก ๆ ความต้องการ? ในความต้องการใช้พลังงานที่มากขึ้น ทำอย่างไรให้กระบวนการผลิตพลังงานไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม? จึงเป็นที่มาของ “พลังงานหมุนเวียน” Renewable Energy (RE) ที่เป็นพลังงานสะอาด
ทางด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานผู้ผลิตและดูแลความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ จึงตอบรับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน ตาม “แผนพลังงานชาติ” หรือ “National Energy Plan” เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ โดยเน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วน RE ไม่น้อยกว่า 50% ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า พัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า (Grid Modernization) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ระบบไมโครกริด ตลอดจนการผลิตเองใช้เอง (Prosumer) ที่มากขึ้น รวมถึงมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตเองใช้เอง (Prosumer) ดังกล่าว
Grid Modernization สัมพันธ์กับพลังงานหมุนเวียนอย่างไร?
Grid Modernization คือการพัฒนาระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้น สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบการผลิตไฟฟ้าในภาพรวม เป็นการร่วมกันพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงและรองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค Green Energy เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 ของ กฟผ. ด้วย
ในขณะที่ตัวเลขการใช้ไฟฟ้าของคนไทยยังเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่าการใช้ไฟฟ้าไตรมาสแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 โดยเฉพาะในภาคครัวเรือน ธุรกิจ และอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19
นอกจากนี้แนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV Car) ยังมีปริมาณสูงขึ้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ประเมินยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของไทยปี 65 แตะ 6.36 หมื่นคัน เช่นเดียวกับยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid) และไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) ที่คาดว่า จะสูงถึง 5.3 หมื่นคัน โตถึง 48% สวนทางกับกระแสรถยนต์นั่งเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง (Internal Combustion Engine: ICE) ที่หดตัวจากปี 2564 ถึง 8.8%
เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้ามีมากขึ้น พลังงานหมุนเวียนจึงเป็นทางเลือกที่สำคัญในการนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้า Grid Modernization จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยให้การทำงานของระบบส่งไฟฟ้ามีเสถียรภาพ ดูแลระบบให้สามารถรองรับไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะมีเพิ่มขึ้น เพื่อให้พลังงานไฟฟ้าในอนาคตเป็นพลังงานสีเขียวโดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดย กฟผ. ได้มีการขยายแผนงานและสร้างนวัตกรรมให้เกิดการใช้งานจริง หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น
- การปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) เพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักได้อย่างทันท่วงทีเมื่อพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้
- มีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เปรียบเสมือน Power Bank พลังงานสำรอง เข้าเสริมระบบเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ที่มีทั้งในรูปแบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped Storage) และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน Battery Energy Storage System (BESS) โดยนำร่อง 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และ สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี
- มีระบบการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า มีระบบส่งไฟฟ้าที่สื่อสารข้อมูลกับระบบไฟฟ้าอัจฉริยะได้ และมีระบบการพยากรณ์และควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน Renewable Energy Forecast Center, Renewable Energy Control Centerการจัดตั้งศูนย์สั่งการการดำเนินการตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Response Control Center: DRCC) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้า
- การพัฒนาสถานีไฟฟ้าแรงสูง Digital Substation เพื่อเพิ่มความสามารถในการควบคุมและส่งจ่ายไฟฟ้าอย่างมีเสถียรภาพ โดยเตรียมนำร่องเข้าใช้งานในปี 2565 จำนวน 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงตราด จ.ตราด
- นวัตกรรมโรงไฟฟ้าเสมือน Virtual Power Plant (VPP) ทำหน้าที่เปรียบเสมือนศูนย์ควบคุมที่รวบรวมโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กหลายประเภทเข้าไว้ด้วยกัน โดยอาศัยการคาดการณ์กำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าในกลุ่ม และสั่งการผลิตไฟฟ้าโดยนำเอาความได้เปรียบของคุณลักษณะเฉพาะของแต่ละโรงไฟฟ้ามาเติมเต็มเสริมความมั่นคงซึ่งกันและกัน
และยังมีการจับมือร่วมกับ 3 การไฟฟ้า พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าของไทย เพื่อให้การลงทุนเป็นประโยชน์ที่สุดและไม่เกิดการทับซ้อนกันในการทำงาน ทั้งหมดเพื่อต้องการพัฒนารูปแบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง สนองนโยบายตามแผนพลังงานแห่งชาติและดำเนินการตามแผนขับเคลื่อนสมาร์ทกริดของประเทศไทย เพราะการผลิตไฟฟ้าต้องรักษาสมดุล และเสถียรภาพ กฟผ. จึงตอกย้ำการเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานแบบครบวงจร เพื่อคนไทยทุกคน พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม