เมื่อเทคโนโลยีพลังงานใหม่ๆ พัฒนามาจนถึงขั้นที่จะเข้ามาแทนที่พลังงานน้ำมัน บวกกับกระแสและความตื่นตัวในการมีส่วนร่วมลดมลพิษและมลภาวะ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์วิกฤตมลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle – EV ) ประกอบกับการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วและมีต้นทุนถูกลง ทำให้รัฐบาลมีเป้าหมายว่าภายในปี 2579 จะมียานยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล จำนวน 1.2 ล้านคัน และสถานีอัดประจุไฟฟ้าครอบคลุมตามเมืองใหญ่ จำนวน 690 สถานี โดยรถยนต์ EV จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดค่าใช้จ่ายในด้านเชื้อเพลิง เมื่อเทียบกับยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ได้เตรียมความพร้อมในการศึกษาและผลักดันการพัฒนา EV ในประเทศไทย โดยดำเนินโครงการ “ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง” (i-EV) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อ “วิจัยดัดแปลงรถยนต์เก่าให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า” จำนวน 6 คัน แบ่งเป็นระยะที่ 1 (ปี 2553-2559) จำนวน 2 คัน คือ Honda Jazz และ Toyota Vios และระยะที่ 2 (ปี 2560-2563) จำนวน 4 คัน คือ Nissan Almera 2 คัน และ Toyota Altis 2 คัน ซึ่งเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา รับมอบแล้ว 1 คัน และเดือนเมษายนนี้ จะรับมอบคันที่ 2 จากนั้นจะทยอยรับมอบ i-EV เพิ่มเติมอีก 2 คัน
ในระยะที่ 3 นั้น (ปี 2563 เป็นต้นไป) กฟผ. วางเป้าหมายให้เกิดศูนย์บริการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า ผลิตชุดอุปกรณ์ (Convertion Kit) เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ นำไปขยายผลในเชิงพาณิชย์ให้ยานยนต์ไฟฟ้ามีระดับราคาที่ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของได้ ในราคาดัดแปลงไม่เกินคันละ 2 แสนบาท (ไม่รวมแบตเตอรี่) หากรวมแบตเตอรี่จะมีต้นทุนคันละ 5-6 แสนบาท และมีแนวโน้มจะถูกลงอีก จากเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว
นำใช้รถมินิบัสไฟฟ้าในองค์กร–ตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าฟรี
ในปี 2561 ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ริเริ่มใช้งาน “รถมินิบัสไฟฟ้า” ทดแทนการใช้รถมินิบัสที่ใช้น้ำมันดีเซล จำนวน 1 คัน เพื่อรับส่งพนักงานและประชาชนที่มาศึกษาดูงานและร่วมกิจกรรมที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง และล่าสุดในปีนี้ ได้มินิบัสไฟฟ้ามาเพิ่มอีก 10 คัน เพื่อนำไปใช้งานในพื้นที่สำนักงาน โรงไฟฟ้า เขต เขื่อน และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. จำนวน 8 แห่ง อาทิ โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา, โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง, โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา, โรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี โดยตั้งเป้าหมายให้การใช้รถมินิบัสไฟฟ้าทั้ง 11 คัน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 53 ตันต่อปี หรือ 4.3 ตันต่อคัน ลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง 2.5 แสนบาทต่อปี หรือ 20,000 บาทต่อคัน อีกทั้งลดการปล่อยฝุ่นละอองทุกขนาด 4.3 ล้านมิลลิกรัมต่อปี

พร้อมกันนั้น กฟผ. ได้ลงทุนติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า จำนวน 23 สถานี ใน 8 พื้นที่ของ กฟผ. ดังกล่าว แบ่งเป็นสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบธรรมดา (Normal Charge) จำนวน 11 สถานี และสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว (Quick Charge) จำนวน 12 สถานี เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ซึ่งประชาชนที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถเข้าร่วมโครงการนำร่องใช้บริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 โดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่ https://goo.gl/forms/H00cGJXBg4oiKBsj1 (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2562)
คลอดแผนแม่บท EV สิงหาคมนี้
ในปี 2562 กฟผ. ยังเดินหน้าตามแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า โดยร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สวทช. และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) นำรถโดยสารประจำทาง หรือรถเมล์เก่าแต่ยังไม่หมดอายุของ ขสมก. จำนวน 4 คัน มานำร่องการพัฒนาเป็นรถโดยสารไฟฟ้าต้นแบบ ด้วยการดัดแปลงเครื่องยนต์จากใช้น้ำมันให้กลายเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปีนี้ ก่อนขยายผลสู่การให้บริการประชาชน
ขณะเดียวกัน กฟผ. ยังร่วมมือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 13 ราย กำหนดมาตรฐานและเกณฑ์ประสิทธิภาพเบอร์ 5 หรือฉลากเบอร์ 5 ร่วมกัน โดยมีแผนติดฉลากเบอร์ 5 รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ภายในเดือนกันยายนปีนี้
นอกจากนั้น ผู้บริหาร กฟผ. ยังได้เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า อยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บทยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ระยะยาว โดยแผนแม่บทดังกล่าวอาจเป็นการวางแผนระยะยาวเหมือนเช่นแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะทำงานศึกษา คาดว่าจะตั้งคณะทำงานแล้วเสร็จเดือนเมษายน จากนั้นอีก 4 เดือน หรือประมาณเดือนสิงหาคม แผนแม่บทจะแล้วเสร็จ
EGAT Smart Charge เชื่อมโครงข่ายไฟฟ้าและบ้านอยู่อาศัย
กฟผ. ยังได้พัฒนานวัตกรรมของตัวเอง คือ สถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าแบบ Smart Charge ที่ความสามารถสั่งการและควบคุมปริมาณการชาร์จไฟฟ้าได้ หากเกิดกรณีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้ามีปริมาณมาก หรือโหลดสูง ระบบจะสั่งการไม่ให้ Charger ทำงานเต็มพิกัดจนส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าในภาพรวม และต่อไปการพัฒนา EGAT EV Charger จะต้องมีความสามารถรองรับเทคโนโลยี Vehicle to Grid (V2G) หรือการจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าไปยังโครงข่ายไฟฟ้า และ Vehicle to Home (V2H) หรือการจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าไปยังบ้านที่อยู่อาศัย ที่เป็นเทรนด์ใหม่ของโลกด้วย ขณะนี้ กฟผ. ได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษานวัตกรรม Charger เพื่อรองรับเทคโนโลยีดังกล่าว โดยจะมีการลงนามการศึกษาร่วมกันในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม การพัฒนานวัตกรรม Smart Charger ของ กฟผ. จะต้องตอบโจทย์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้หลากหลายค่าย หลากหลายยี่ห้อ เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และใช้งานกับ Grid และบ้านที่อยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเกิดประโยชน์มากขึ้น คาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จและพร้อมให้บริการได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า
ผู้บริหารของ กฟผ. ได้อธิบายไว้ว่า ต่อไปรถ EV จะเป็นเหมือนระบบกักเก็บพลังงานเคลื่อนที่ โดยนอกจากจะสามารถใช้ไฟในบ้านได้ ยังสามารถนำไฟจ่ายเข้าระบบได้เช่นกันถ้าแบตเตอรี่เก็บพลังงานไว้ได้มาก ซึ่งในต่างประเทศมีการพัฒนานวัตกรรมนี้แล้ว ดังนั้น การศึกษา EV Charger ของ กฟผ. จะต้องตอบรับเทรนด์นี้ด้วย และสามารถรองรับการชาร์จ EV ได้เร็วขึ้นประมาณ 15 นาที (ขึ้นอยู่กับประเภทและขนาดของรถยนต์)
โจทย์สำคัญของประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านจากการใช้ยานยนต์พลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิงไปสู่การใช้ “ยานยนต์ไฟฟ้า” ในวงกว้างมากขึ้น สิ่งสำคัญก็คือการวางโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าให้พร้อมรองรับกับความต้องการใช้งานที่จะเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เพื่อให้การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม ทั้งรถจักรยานยนต์ รถยนต์ส่วนบุคคล รถบัส หรือรถโดยสารสาธารณะ เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด