นายนารินทร์ วงศ์ธนาศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และรัฐกิจสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย
- Advertisment-

กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดแสดงพื้นที่สาธิตการจัดการขยะทะเลครบวงจรอย่างมีส่วนร่วม ในโอกาสการลงตรวจเยี่ยมพื้นที่ป่าในเมืองโดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ สวนสาธารณะโขดปอ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เพื่อเดินหน้าสร้างความตระหนักและเปลี่ยนมุมมองให้ชุมชนเห็นพลาสติกใช้แล้วเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า พร้อมกับสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการเก็บพลาสติกที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ด้วยการเปลี่ยนขยะทะเลเป็นวัสดุก่อสร้างเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสู่เชิงพาณิชย์ และจัดสร้างจักรยานเก็บขยะในน้ำ ส่งเสริมการนำกลับมาใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ในการนี้ Dow ได้นำนวัตกรรมบล็อคปูพื้นคอนกรีตผสมพลาสติกจากขยะทะเลและขยะชุมชน ซึ่งมีมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมาใช้ปรับภูมิทัศน์ของป่าในเมืองโขดปอ โดยเป็นผลงานจากโครงการ “ความร่วมมือภาคีเครือข่าย ขยะทะเล…สู่…การเพิ่มรายได้ชุมชนระยอง” ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง Dow สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในการนำความรู้จากงานวิจัยมาถ่ายทอดให้กับชุมชน โดยเริ่มต้นนำร่องที่วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพชุมชนเกาะกก และหมู่บ้านเอื้ออาทรจังหวัดระยอง (วังหว้า) ตั้งเป้าจำหน่ายอย่างเป็นทางการภายในสิ้นปี คาดว่าจะสร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 400,000 – 1,500,000 บาทต่อปี และลดปริมาณพลาสติกในสิ่งแวดล้อมได้กว่า 30,000 กิโลกรัมต่อปี

นายนารินทร์ วงศ์ธนาศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และรัฐกิจสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “จริง ๆ แล้วพลาสติกใช้แล้วที่เราทิ้งไปไม่ใช่ขยะ แต่เป็นทรัพยากรที่เอามารีไซเคิลสร้างประโยชน์ต่อได้อีกมากมาย เราจึงพยายามหาวิธีการต่าง ๆ  เพื่อนำพลาสติกหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์อย่างไม่รู้จบ ซึ่งเป็นหนึ่งในทางออกของการแก้วิกฤติขยะอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งรณรงค์ให้ความรู้ กระตุ้นจิตสำนึกให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง”

- Advertisment -

นอกจากนี้ Dow ยังร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคระยอง และกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูแม่น้ำระยองและป่าชายเลน ออกแบบและพัฒนานวัตกรรม “จักรยานน้ำเก็บขยะ”  ซึ่งสามารถเก็บขยะได้ 50 กิโลกรัมต่อครั้ง ช่วยลดปัญหาน้ำเน่าเสียและเพิ่มเติมออกซิเจนในน้ำบริเวณป่าชายเลน รวมทั้งยังส่งเสริมการออกกำลังกายและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกันด้วย ความร่วมมือในครั้งนี้จะส่งเสริมให้คนในชุมชนและเยาวชนในพื้นที่มีความตระหนักในการดูแลรักษาแหล่งน้ำให้มีความสะอาด สวยงาม และป้องกันขยะหลุดรอดสู่ทะเล อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชน  โดยขยะที่เก็บได้จะถูกนำไปจัดการให้เกิดประโยชน์อย่างเหมาะสม หรือกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป

นายนารินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การสร้างเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในพื้นที่ จะสนับสนุนการพัฒนาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายนำร่องในการจัดการพลาสติกที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ส่งผลให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเป็นต้นแบบของความร่วมมือในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาด้วยความร่วมมือของชุมชน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและนำไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป”

Dow ได้ตั้งเป้าที่จะช่วย  “หยุดขยะพลาสติก” โดยมุ่งมั่นจะผลักดันให้พลาสติกใช้แล้วจำนวน 1 ล้านตันจากทั่วโลกถูกนำมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลภายในปี พ.ศ. 2573 จากความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการแก้วิกฤตขยะของโลก เพราะเชื่อว่าพลาสติกมีคุณค่ามากเกินกว่าที่จะกลายเป็นขยะ จึงได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อช่วยลดการหลุดรอดของพลาสติกออกสู่สิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดพลาสติกในทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายใน พ.ศ. 2570 นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาขยะทะเลที่จะนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทการจัดการพลาสติกใช้แล้วของประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561–2573

Advertisment