Dow มุ่งบรรลุเป้าหมายใหม่ ลดก๊าซเรือนกระจก หยุดขยะพลาสติก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ต่อยอดความยั่งยืน

832
- Advertisment-

ข่าวประชาสัมพันธ์

บริษัท ดาว (Dow) ประกาศความมุ่งมั่นใหม่ ต่อยอดจากเป้าหมายความยั่งยืนปี 2568 เน้นแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และขยะพลาสติก มุ่งสู่การเป็นบริษัทด้านแมททีเรียล ไซแอนซ์ (Materials Science) ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และได้เผยแพร่รายงานความยั่งยืนปี 2562 ซึ่งบริษัทฯ ได้ออกรายงานความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 เพื่อรายงานความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานสู่เป้าหมายความยั่งยืน

  • บรรลุเป้าก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593
  • พลาสติกจำนวน 1 ล้านตันจะถูกเก็บกลับเพื่อนำมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิล ภายในปี 2573
  • ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของดาวที่นำไปผลิตเป็นแพคเกจจิ้งจะต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ ภายในปี 2578

นายจิม ฟิทเทอร์ลิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Dow กล่าวว่า “การประกาศเป้าใหม่ในวันนี้เป็นอีกก้าวของเส้นทางสู่ความยั่งยืนของเราที่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่กว่า 30 ปีก่อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและขยะพลาสติกเป็นสองปัญหาใหญ่ที่สุดในด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อมที่โลกได้เคยเผชิญมา ซึ่งผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของ Dow จะมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาทั้งสองเรื่องนี้  Dow มีความรับผิดชอบ และมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในการแก้ไขความท้าทายนี้ได้ ผมเชื่อว่าอนาคตที่ยั่งยืนนั้นเป็นจริงได้ แต่พวกเราต้องลงมือแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องด้วยความรับผิดชอบ และร่วมมือร่วมใจกันหาโซลูชั่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและขยะพลาสติกได้อย่างตรงจุด”

นายจิม ฟิทเทอร์ลิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Dow

เป้าหมายใหม่ด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และ การลดขยะของ Dow ที่สอดคล้องและต่อยอดจากเป้าหมายความยั่งยืนปี 2568 มีดังนี้

  • ต้านโลกร้อน: ภายในปี 2573 Dow จะลดการปล่อยคาร์บอนจำนวน 5 ล้านตันต่อปี หรือ ลดลง 15% จากฐานปี 2563 นอกจากนี้ Dow ยังตั้งใจจะเป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี 2593 เพื่อให้สอดคล้องกับความตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยบริษัทฯ ตั้งใจที่จะใช้และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรน้อยลง เพื่อช่วยให้ลูกค้าของ Dow ได้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน
  • หยุดขยะพลาสติก: ภายในปี 2573 Dow จะช่วย “หยุดขยะพลาสติก” โดยการทำให้ขยะพลาสติกจำนวน 1 ล้านตันถูกเก็บกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลผ่านการดำเนินงานของบริษัทและความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งบริษัทฯ กำลังลงทุนและร่วมมือกับทุกภาคส่วนในด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่จะเพิ่มการรีไซเคิลทั่วโลกได้อย่างมีนัยสำคัญ
  • ส่งเสริมวงจรรีไซเคิล: ภายในปี 2578 Dow จะช่วยสร้าง “วงจรรีไซเคิล” ให้สมบูรณ์โดย ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ Dow ที่นำไปผลิตเป็นแพคเกจจิ้งจะต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ ซึ่งบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นจะออกแบบและคิดค้นโซลูชันการนำกลับมาใช้และการรีไซเคิลให้กับผลิตภัณฑ์สำหรับงานแพคเกจจิ้ง

นอกเหนือจากการดำเนินงานต่าง ๆ ที่ Dow ได้ทำในทั่วโลกเพื่อจะบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนแล้ว Dow ได้ทำสัญญาเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงานที่อาร์เจนตินา บราซิล รวมทั้ง ที่เท็กซัส และเคนตักกี้ ในสหรัฐอเมริกา โดยจะใช้พลังงานจากทรัพยากรหมุนเวียนทั้งหมด 338 เมกะวัตต์ ประมาณการเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 225,000 ตัน ซึ่งตรงกับแผนงานที่มีเป้าหมายจะใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้มากกว่า 750 เมกะวัตภายในปี 2568

- Advertisment -

ผลิตภัณฑ์ของ Dow จำนวนมากช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตของตัวผลิตภัณฑ์เอง เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้รถยนต์มีน้ำหนักเบาขึ้นและใช้น้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ อาคารที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น และอาหารที่ปลอดภัยและคงความสดใหม่ได้นานขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับโลกที่คาดว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอีก 2 พันล้านคนภายในปี 2593

วันนี้ Dow ได้นำเสนอกลุ่มผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกรีไซเคิลสำหรับงานแพคเกจจิ้งที่ได้มาจากกระบวนการรีไซเคิลเชิงกล หรือ Mechanical Recycling (การนำขยะพลาสติกมาบดและหลอมเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล) ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนและการใช้พลังงานได้ถึง 20-30%

เป้าหมายเรื่องขยะพลาสติกของ Dow คือต้องแน่ใจว่าการลงทุนและความร่วมมือต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการลงทุนใน Alliance to End Plastic Waste และ Circulate Capital นั้นมีเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะหยุดขยะพลาสติกไม่ให้ไปสู่สิ่งแวดล้อม พร้อมนำธุรกิจของ Dow  ไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

“การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการหยุดขยะพลาสติกเป็นเรื่องท้าทายที่มีความเชื่อมโยงกัน ในฐานะที่ Dow เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ (Low carbon economy) เราจึงคิดค้นและลงทุนในกระบวนการผลิตแบบใหม่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งมองขยะเป็นทรัพยากรที่จะช่วยให้เราสามารถสร้างสรรค์วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้” แมรี่ เดรฟส์ รองประธานและประธานเจ้าหน้าที่ด้านความยั่งยืน กล่าว

Dow จะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ องค์กรไม่แสวงหากำไร ผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบ พันธมิตรด้านเทคโนโลยี และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ รวมทั้ง เทคโนโลยีที่ปลดปล่อยคาร์บอนในระดับต่ำ เพื่อในที่สุดแล้วจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั่วโลก ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทต่าง ๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับการลดก๊าซเรือนกระจกดังที่กล่าวมาได้ Dow ตั้งใจจะเปิดเผยข้อมูลด้านความร่วมมือเพิ่มเติมในปลายปีนี้

จากเนื้อหาของรายงานความยั่งยืนปี 2562 ของ Dow ที่เผยแพร่ในวันนี้ เราได้มีความคืบหน้าในการดำเนินงานเพื่อไปถึงเป้าหมายความยั่งยืนปี 2568 ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ปี 2549 Dow ได้

  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้ว 15%
  • รวมราคาคาร์บอนเครดิตเข้าไปอยู่ในแผนธุรกิจ
  • ลงทุนในด้านการใช้พลังงานหมุนเวียน – Dow เป็นบริษัทที่ใช้พลังงานสะอาดมากเป็นเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรมเคมี และติด 1 ในท็อป 25 ของบริษัททั่วโลกในด้านการใช้พลังงานหมุนเวียน

ดูรายงานด้านความยั่งยืนของกลุ่มบริษัท Dow ระดับสากล ฉบับเต็มที่ https://corporate.dow.com/en-us/science-and-sustainability/reporting/sustainability-report-2019/

สำหรับประเทศไทย นอกจากการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ แล้ว กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ยังได้หารือความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เพื่อริเริ่มโครงการ Dow & Thailand Mangrove Alliance ในการอนุรักษ์ป่าชายเลนซึ่งสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับป่าไม้ประเภทอื่น และป้องกันขยะไม่ให้ไหลลงสู่ทะเลด้วยกลไกทางเศรษฐศาสตร์และการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยในปีนี้จะเริ่มทำโครงการนำร่องที่ป่าชายเลนในเขตเทศบาลตำบลปากน้ำประแส จังหวัดระยอง เป็นแห่งแรก และจะขยายผลไปยังป่าชายเลนที่สำคัญของประเทศไทยต่อไปอีกด้วย

“Dow ดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนที่ปากน้ำประแสมานานกว่า 11 ปี และ ในปีนี้เราจะยกระดับโครงการให้ใหญ่และครบวงจรมากขึ้น เพื่อเป็นโครงการนำร่อง เตรียมการขยายไปยังป่าชายเลนที่สำคัญในจังหวัดอื่น ๆ รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมทั้งกับชุมชนและประชาชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแก้วิกฤตโลกร้อน ลดปัญหาขยะทะเลด้วยกันอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย สอดคล้องกับเป้าหมายใหม่ของ Dow ทั่วโลก” นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าว

 

 

Advertisment