Dow ย้ำ พลาสติกที่ยั่งยืนต้องสร้างการมีส่วนร่วม หนุน “มือวิเศษ X วน” เพื่อคนไทย

685
- Advertisment-

กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) บริษัทด้านแมททีเรียล ไซแอนซ์ (Materials Science) รายใหญ่ของโลก เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน เน้นย้ำความสำคัญของการมีส่วนรวมของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะความร่วมมือของภาคประชาชน

ฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “ในฐานะที่ ดาว เป็นหนึ่งในบริษัทด้านแมททีเรียล ไซแอนซ์ (Materials Science) หรือ วัสดุศาสตร์ รายใหญ่ที่สุดของโลก บริษัทได้ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่หลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อม และพยายามหาวิธีการต่าง ๆ เข้ามาจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน เพราะพลาสติกมีประโยชน์และมีค่าเกินกว่าจะถูกทิ้งอยู่ในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่จะเห็นได้ว่าพลาสติกมีบทบาทมากขึ้นในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในหลาย ๆ ด้าน ทั้งเป็นอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ แต่การจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืนให้บรรลุผลสำเร็จได้ ไม่สามารถทำโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่งเพียงลำพัง ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง”

ดาว จึงเป็นผู้ริเริ่มและสนับสนุนการมีส่วนร่วมในโครงการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนที่สำคัญหลายโครงการ เช่น เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มและร่วมก่อตั้งเครือข่ายพันธมิตรเพื่อกำจัดขยะพลาสติก AEPW (Alliance to End Plastics Waste) ซึ่งมีเป้าหมายระดมทุนให้ได้ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือราว 45,000 ล้านบาท) ภายใน 5 ปี เพื่อเป็นเงินทุนสนับสนุนการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศต่าง ๆ ขณะนี้มีบริษัทระดับโลกขนาดใหญ่ประมาณ 40 รายทั่วโลก เข้าร่วมเป็นสมาชิก โดย AEPW ได้สนับสนุนงบประมาณให้โครงการที่มีศักยภาพในประเทศต่างๆ ไปแล้วหลายโครงการรวมทั้งในประเทศไทย

- Advertisment -

นอกจากนั้น ดาว ยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงทุนก่อตั้งกองทุนขนาด 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของ Circulate Capital บริษัทจัดการการลงทุนชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนด้านเงินทุนแก่บริษัท โครงการ และโครงสร้างพื้นฐานที่มีเป้าหมายเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ในการป้องกันปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งเป็นเงินทุนที่จะนำไปใช้ในโครงการเสริมสร้างศักยภาพให้กับหน่วยงานที่ไม่หวังผลกำไรและสร้างความร่วมมือกับผู้นำชุมชนเมืองต่าง ๆ เพื่อบริหารจัดการขยะที่ใช้ได้จริง

ดาว ยังได้ริเริ่มโครงการทำความสะอาดแหล่งน้ำและเก็บขยะชายหาด ที่มีอาสาสมัคร 18,000 คนทั่วโลก เก็บขยะชายหาดใน 175 พื้นที่ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เก็บขยะได้ปริมาณกว่า 80,000 กิโลกรัม โดยนอกจากการเก็บขยะที่ช่วยแก้ปัญหาที่ปลายทางแล้ว ในส่วนของดาวเองก็ได้ดำเนินการจัดการพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง โดยมีโครงการ Operation Clean Sweep เพื่อควบคุมไม่ให้มีพลาสติกจากกระบวนการผลิตหลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อม

สำหรับในประเทศไทย ดาวฯ เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มการก่อตั้งโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน  หรือ PPP Plastics (Public Private Partnership for  Sustainable Plastic and Waste Management)  เมื่อปี 2561 และร่วมกับภาคีเครือข่ายโครงการฯ ในการสนับสนุนภาครัฐจัดทำและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 หรือ roadmap การจัดการขยะพลาสติกของประเทศ เพื่อเป็นกรอบและทิศทางให้ทุกฝ่ายนำไปใช้อ้างอิงในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกโดยยึดหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน มีเป้าหมายการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% ในปี 2570

ล่าสุด ดาว ได้ร่วมกันกับภาคีเครือข่าย PPP Plastics กว่า 60 องค์กร ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะ พลาสติกผ่านโครงการ “มือวิเศษ X วน รับบริจาคถุงและบรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติก อาทิ ถุงชอปปิ้ง ถุงหูหิ้วพลาสติก ห่อผ้าอ้อม ฟิล์มพลาสติกหุ้มขวดน้ำ ฟิล์มกันกระแทกพลาสติกที่มากับสินค้าส่งถึง บ้าน เพื่อนำกลับไปรีไซเคิล ช่วยป้องกันไม่ให้พลาสติกเหล่านี้หลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อมและลดปริมาณขยะพลาสติกที่จะไปที่หลุมฝังกลบ ลดปัญหาขยะในทะเล และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

“โครงการมือวิเศษ x วน เป็นตัวอย่างของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต  ผู้ประกอบการรีไซเคิล ภาครัฐที่กำกับดูแล และภาคประชาชนผู้บริโภค ในการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน โดยจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในการทิ้งและคัดแยกขยะพลาสติกอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง นายฉัตรชัยกล่าว

โดยโครงการมือวิเศษ x วน จะตั้งจุดรับบริจาคในชื่อ “ถังวนถุง” จำนวน 300 จุด ในเดือนมิถุนายนนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และระยอง เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เดอะมอลล์ เทสโก้ โลตัส และปั๊มน้ำมันบางจาก เป็นต้น (เช็คจุดตั้ง “ถังวนถุง” ที่นี่ https://www.facebook.com/จุดตั้งถังวนถุง)  จากนั้นจะขยายผลไปสู่จังหวัดข้างเคียงและจังหวัดอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต โดยถุงและบรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกที่ประชาชนนำมาใส่ถังวนถุงจะมีมูลค่ากิโลกรัมละ 5 บาท มอบให้กับศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก เพื่อนำไปใช้ในภารกิจช่วยเหลือสัตว์ทะเลต่างๆ ที่ได้รับบาดเจ็บต่อไปอีกด้วย

นายฉัตรชัยกล่าวว่า ในด้านเทคโนโลยี การมีส่วนร่วมของแบรนด์ และ ผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้มีการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้ในการจัดการขยะพลาสติกและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ (economic value) ให้ขยะพลาสติกได้พัฒนาไปเป็นอย่างมากจนพร้อมที่จะนำพลาสติกหลายๆ ชนิดมาใช้อย่างครบวงจรได้แล้ว ตัวอย่าง เช่น เทคโนโลยีผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือเม็ดพลาสติกหลอม PCR (Post Consumer Resin) ซึ่งเคยมีข้อจำกัดหลายอย่าง ในปัจจุบันดาวฯ ได้คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตเม็ดพลาสติกผสม PCR คุณภาพสูงที่สามารถนำไปผลิตเป็นฟิล์มแพคสินค้า (Collation shrink film) ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าเม็ดพลาสติกใหม่ และยังรีไซเคิลกลับมาใช้ซ้ำเป็นวงจรได้ไม่รู้จบ

ดาว ยังเป็นเจ้าแรกของโลกที่มีเทคโนโลยี Multi-Layer Mono Material Packaging Solution ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่นำไปผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล โดยผู้ผลิตสามารถใช้วัตถุดิบเพียงชนิดเดียว แต่ให้คุณสมบัติที่หลากหลาย ทดแทนการใช้วัตถุดิบหลายๆ ประเภท (Multi-Layer Multi-Material) ซึ่งทำให้บรรจุภัณฑ์ยากต่อการนำไปรีไซเคิลหรือไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้  นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า Chemical Recycling ซึ่งเป็นการรีไซเคิลขยะพลาสติกกลับไปเป็นวัตถุดิบ (Feedstock Recycling) ใช้ผลิตเป็นเม็ดพลาสติกใหม่ (Renewable Feedstock) ที่มีคุณสมบัติเหมือนกับผลิตจากปิโตรเลียมทุกประการ

“ปัญหาการจัดการพลาสติกนั้นใหญ่เกินกว่าบริษัทใดบริษัทหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งจะทำเพียงลำพัง ดังนั้น เราจึงต้องช่วยกันสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนและภาคีเครือข่ายโดยการสร้างความตระหนักรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคให้คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง สนับสนุนให้มีโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน นายฉัตรชัยกล่าวทิ้งท้าย

 

Advertisment