“Dow” ผนึกภาคีเปิดเวทีอนุรักษ์พื้นที่ “คาร์บอนทะเล” หนุนไทยสู่เป้า Net Zero

352
- Advertisment-

Dow ผนึกภาคี ภาครัฐ ภาคธุรกิจ นักวิชาการ NGO และชุมชน ในงาน Blue Carbon Conference 2022 “คาร์บอนทะเล: หนุนธุรกิจสู่ Net Zero เสริมระบบนิเวศและชุมชน” เร่งรวบรวมความเห็นสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลนและหญ้าทะเลอย่างมีส่วนร่วม และแบ่งปันประสบการณ์เพื่อยกระดับการอนุรักษ์ มุ่งส่งเสริมการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร ตั้งแต่การปลูก ดูแล ใช้ประโยชน์พื้นที่ และการสร้างประโยชน์ของชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงการคำนวณคาร์บอนเครดิตเข้าสู่มาตรฐานสากล

กรุงเทพฯ  23 กันยายน 2565 -กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)  และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)  เปิดเวทีเสวนาร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ภายใต้ โครงการ Dow & Thailand Mangrove Alliance ในงาน Blue Carbon Conference 2022 “คาร์บอนทะเล: หนุนธุรกิจสู่ Net Zero เสริมระบบนิเวศและชุมชน”   นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการรวมผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านป่าชายเลน พื้นที่ราบน้ำขึ้นถึง และหญ้าทะเลบนเวทีเดียวกัน เพื่อแบ่งปันแนวทางการฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งกักเก็บคาร์บอนทะเล (Blue Carbon) ที่กักเก็บได้มากกว่าระบบนิเวศป่าบกถึงเกือบ 10 เท่า ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทั้งทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการอนุรักษ์และนำพาประเทศไทยบรรลุสู่เป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero

งานเสวนาในครั้งนี้มีเนื้อหาครอบคลุมระบบนิเวศคาร์บอนทะเลและนโยบายการฟื้นฟู กลไกคาร์บอนเครดิตภาคทะเลและชายฝั่ง องค์ความรู้เพื่อยกระดับการฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่คาร์บอนทะเล ชุมชนกับการบริหารจัดการทรัพยากรและผลประโยชน์จากระบบนิเวศ รวมทั้งบทบาทภาคเอกชนในการอนุรักษ์คาร์บอนทะเลกับการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่คาร์บอนเป็นศูนย์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในและต่างประเทศกว่า 20 ท่าน ร่วมด้วยองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พื้นที่คาร์บอนทะเลกว่า 150 องค์กร

- Advertisment -

ดร.ดินโด แคมปิลัน ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชีย และผู้อำนวยการศูนย์กลางภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) กล่าวว่า “บลูคาร์บอน คือ การกักเก็บคาร์บอนโดยระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งที่มีประสิทธิภาพกักเก็บสูงกว่าป่าบก แต่ปัจจุบันทรัพยากรเหล่านี้ถูกทำลายไปมาก จำเป็นต้องมีการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรเหล่านี้เพื่อคงไว้ซึ่งการรักษาระบบนิเวศบริการ จากการกักเก็บคาร์บอน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว และเพื่อบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่เรียกว่า Nature-based Solution หรือการแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน เพื่อให้ธรรมชาติสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ เช่น แหล่งเพาะพันธุ์อาหารถูกทำลาย น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น  ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่มาจากปัญหาภาวะโลกร้อน”

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหารกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) กล่าวว่า “ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการช่วยลดปัญหาโลกร้อน หยุดขยะพลาสติก และส่งเสริมวงจรรีไซเคิลตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงได้ร่วมกับ ทช.และ IUCN ก่อตั้งเครือข่าย Dow & Thailand Mangrove Alliance ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งในปัจจุบันเราเป็นภาคีเครือข่ายด้านการอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่งที่มีองค์กรเข้าร่วมมากที่สุดในประเทศไทย และมีแผนงานที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานกับเครือข่ายป่าชายเลนโลก Global Mangrove Alliance ในลำดับต่อไป

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเวทีนี้ จะช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้ในการอนุรักษ์อย่างถูกวิธี จุดประกายความร่วมมือใหม่ๆ และเป็นโอกาสในการขยายเครือข่ายขององค์กรที่มีแนวคิดแบบเดียวกัน เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจสู่ Net Zero ฟื้นฟูระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนเพื่อขับเคลื่อนประเทศของเราสู่ความมั่นคงและยั่งยืน”

 นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า “ในฐานะที่ ทช. มีภารกิจในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู คุ้มครอง ดูแล รักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรวมถึงป่าชายเลน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้ จึงได้จัดทำโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต กำหนดเป้าหมายระยะ 10 ปี (ปี2565-2574) เนื้อที่ 300,000 ไร่ ในท้องที่ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล โดย ทช. ได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับบุคคลภายนอก และระเบียบการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตสำหรับชุมชน พ.ศ. 2565 ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและชุมชนสามารถยื่นเสนอเข้าโครงการ สำหรับในปี พ.ศ. 2565 มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการ สำหรับบุคคลภายนอกประมาณ 44,000 ไร่ และสำหรับชุมชนประมาณ 44,000 ไร่ เช่นกัน ซึ่งขณะนี้ ได้รับความสนใจ มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก โดยเมื่อได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการจาก ทช.แล้ว ผู้เข้าร่วมจะต้องยื่นจดทะเบียนโครงการฯ กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งเป็นหน่วยงานประเมินคาร์บอนเครดิต สำหรับการดำเนินโครงการ โดย ทช.เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ในทุกขั้นตอนของการดำเนินการ

โครงการนี้นอกจากจะได้พื้นที่ป่าที่สมบูรณ์กลับคืนมาในระยะเวลาอันรวดเร็วแล้ว ยังประหยัดงบประมาณภาครัฐได้ถึงปีละประมาณ 600-700 ล้านบาท อีกทั้งเป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ดำเนินโครงการ สำหรับกรอบระยะเวลาการดำเนินการ ผู้ร่วมโครงการจะต้องดำเนินการปลูกและบำรุงดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องในระยะ 10 ปีขึ้นไป จะทำให้พื้นที่ป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมได้รับการฟื้นฟูคืนสู่ความสมบูรณ์และประชาชนใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

“นอกจากป่าชายเลนยังมีแหล่งหญ้าทะเลซึ่งนับรวมเป็นระบบนิเวศบลูคาร์บอน หญ้าทะเลได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในประเทศไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาในฐานะแหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของประเทศเรา ปัจจุบันเรามีการวิจัยและทดลองปลูกและฟื้นฟูหญ้าทะเลในหลายพื้นที่ซึ่งพบว่าการปลูกหญ้าทะเลให้สำเร็จต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน และความเหมาะสมของระบบนิเวศในพื้นที่ ต้องขอบคุณภาคเอกชนหลายๆ องค์กรที่เห็นความสำคัญและร่วมสนับสนุน เช่น กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ที่เป็นแกนนำในการจัดเวทีเสวนาในวันนี้ จากนี้ไป ทช. ก็จะเดินหน้าเรื่องหญ้าทะเลต่อไป ซึ่งในอนาคตก็จะมีความชัดเจนเช่นเดียวกับป่าชายเลนที่เราดำเนินการมาก่อนหน้านี้” ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวเสริม

เวทีนี้นับเป็นมิติใหม่ของประเทศไทยในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้เชี่ยวชาญ การเผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้สนใจ การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และการเพิ่มพูนเครือข่ายในการอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลไทยในพื้นที่คาร์บอนทะเล

ข้อมูลจากเวทีนี้สามารถนำไปต่อยอดใช้ในการทำโครงการด้านการอนุรักษ์พื้นที่คาร์บอนทะเลให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อองค์กรที่นำความรู้ไปใช้ สิ่งแวดล้อม และชุมชน และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือใหม่ๆ ระหว่างองค์กรที่มาร่วมในงาน ทำให้เกิดโครงการอนุรักษ์ที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นในประเทศไทย เป็นการยกระดับการอนุรักษ์พื้นที่คาร์บอนทะเลในประเทศไทย เพื่อนำพาประเทศสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนต่อไป

เกี่ยวกับ ‘ดาว’

Dow (ดาว) เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกซึ่งพัฒนาและผลิตวัสดุชนิดต่าง ๆ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจและอนาคตที่ยั่งยืนให้กับโลกด้วยความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม รวมทั้งการดำเนินงานที่เป็นเลิศด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล Dow มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทด้านวัสดุศาสตร์ (Materials science) ชั้นนำของโลกในด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน ด้วยการทำงานที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และให้การยอมรับบุคคลากรที่มีความหลากหลาย กลุ่มผลิตภัณฑ์และโซลูชันทางวิทยาศาสตร์ของ Dow เน้นตอบโจทย์การใช้งานในอุตสาหกรรมที่สำคัญและมีการเติบโตสูง เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ การก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐาน การผลิตเครื่องอุปโภคบริโภค เป็นต้น ปัจจุบัน Dow มีฐานการผลิต 104 แห่งใน 31 ประเทศ และมีพนักงานประมาณ 35,700 คน โดยมียอดขายในปี พ.ศ. 2564 ประมาณ 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท) สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.dow.com หรือติดตามทวิตเตอร์ @DowNewsroom

เกี่ยวกับ ‘กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย’

กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow Thailand Group) เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 และได้ร่วมกับบริษัท เอสซีจี ก่อตั้งกลุ่มบริษัทร่วมทุนเอสซีจี-ดาว ในปี พ.ศ. 2530 (ในปี 2565 เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้รีแบรนด์เป็น เอสซีจีซี) โดยในปัจจุบัน กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ประกอบด้วยบริษัทซึ่ง Dow เป็นเจ้าของเพียงผู้เดียว และกลุ่มบริษัทร่วมทุนเอสซีจีซี-ดาว นอกจากนี้ ยังมีบริษัทร่วมทุนระหว่าง Dow และ โซลเวย์ในประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของ ดาว ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก โดยมีโรงงานหลายแห่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง ตลาดหลักของกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทยได้แก่ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ การก่อสร้าง ยานยนต์และการขนส่ง สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้ที่ https://th.dow.com/en-us  หรือติดตามเฟซบุ๊ก www.facebook.com/DowThailandGroup/

Advertisment