งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 ซึ่งจัดโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ระหว่างวันที่ 16 – 25 สิงหาคม 2567 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีหลายองค์กรทั้งจากภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ร่วมจัดบูธแสดงนิทรรศการ โดยหนึ่งในบูธที่ได้รับความสนใจจากเยาวชนที่เดินทางมาร่วมงานจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ คือ บูธของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group โดย ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม ที่มาในธีม “นวัตกรรมวิทย์ พลิกโลก ตอน Climate Tech เด็กเปล่งแสง ลดโลกเดือด” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ EGCO Group ในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ด้านพลังงาน การผลิตไฟฟ้า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการดูแลสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญคือ เยาวชนและครูในโรงเรียนต่าง ๆ


ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group ซึ่งเป็นประธานในพิธีเปิดบูธนิทรรศการของศูนย์เรียนรู้ฯ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา กล่าวว่า EGCO Group มีเป้าหมายที่จะมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยได้ศึกษาและติดตามการนำเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาใช้ผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง อาทิ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS) เทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจน และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เป็นเทรนด์ของโลก ซึ่งในการแสดงนิทรรศการครั้งนี้ ก็ได้นำความรู้เรื่องเทคโนโลยีดังกล่าว มาสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเยาวชนที่เข้าเยี่ยมชมและร่วมกิจกรรมด้วย

ดร.จิราพร อธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากเชื้อเพลิงหลัก ไปสู่พลังงานสะอาดที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนนั้น ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพและช่วยเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า จะยังเป็นเชื้อเพลิงที่มีความสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ซึ่ง EGCO Group พยายามทำให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง โดยนำไฮโดรเจนเข้ามาผสม ซึ่งประสบความสำเร็จแล้วที่โรงไฟฟ้าลินเดน โคเจน หน่วยที่ 6 ในสหรัฐอเมริกา ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ได้ศึกษาเทคโนโลยีการใช้แอมโมเนียมาเป็นเชื้อเพลิงผสม เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ตลอดจนอยู่ระหว่างศึกษาการนำเทคโนโลยี CCUS มาใช้ แต่ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยี CCUS ยังมีต้นทุนสูง ส่วนเรื่องแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ก็จะช่วยทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในอนาคต มีเสถียรภาพในการจ่ายไฟฟ้ามากขึ้น

“เด็กและเยาวชนที่มาเยี่ยมชมบูธนิทรรศการของศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม จะได้เรียนรู้เทคโนโลยีในปัจจุบันที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนทั้งหมด ว่าแต่ละส่วนมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการถึงวิธีการอื่น ๆ ที่จะช่วยลดโลกร้อนได้”




คุณพินทุ์สุดา เปี่ยมปิติ ผู้จัดการส่วนกิจกรรมองค์กรและสังคม ฝ่ายสื่อสารองค์กร EGCO Group กล่าวถึงแนวคิดของการจัดนิทรรศการครั้งนี้ว่า “EGCO Group มีความเชื่อว่า “ต้นทางดี จะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี” จึงให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ความรู้และส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีพลังงาน ในกลุ่มเยาวชน ซึ่งเป็นต้นทางของการเรียนรู้และอนาคตของประเทศ ซึ่งแนวคิด “เด็กเปล่งแสง” ในนิทรรศการครั้งนี้ สะท้อนความเชื่อมั่นว่าเด็กและเยาวชนทุกคนมีศักยภาพหรือแสงในตัวเอง ผู้ใหญ่มีบทบาทเป็นเพียงผู้ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพที่มีอยู่ออกมา ให้เขารู้สึกมีส่วนร่วมในการช่วยกอบกู้โลกที่กำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปพร้อมๆ กันกับพวกเราทุกคน”
ทั้งนี้ EGCO Group เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการในมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ปีนี้เป็นปีที่ 2 โดยปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนที่เข้ามาชมนิทรรศการ ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น และรู้สึกสนุกเพลิดเพลินมากขึ้น พร้อมโชว์ผลสัมฤทธิ์จากแผ่นกระดาษโน๊ต ที่เด็ก ๆ เยาวชน เขียนแล้วนำไปแปะจนเต็มพื้นที่กำแพงศิลปะยักษ์

“เราเห็นรูปธรรมจากโพสต์อิทที่ถูกแปะบนผนัง ว่าในเวลา 15-20 นาที ที่เด็กเข้าร่วมในนิทรรศการ เขาเกิดกระบวนการเรียนรู้ เกิดความคิด ซึ่งเป็นแสงที่เขาได้เปล่งออกมา ถ้ามีกระบวนการเข้ามาช่วยส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ก็จะได้เห็นถึงศักยภาพที่พวกเขาจะทำสิ่งดี ๆ ที่มีประโยชน์ได้อีกมากมาย คำว่า “เด็กเปล่งแสง” จึงสอดคล้องกับความเชื่อของเราว่า ถ้าต้นทางดี ก็จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี และเป็นงานที่ EGCO Group ทำมาโดยตลอด” คุณพินทุ์สุดา กล่าวถึงผลสัมฤทธิ์ที่สัมผัสได้จากการจัดบูธนิทรรศการในครั้งนี้
นิทรรศการของศูนย์เรียนรู้ฯตั้งอยู่ในอาคาร 12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีพื้นที่จัดแสดงประมาณ 200 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก แต่ละโซนใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ในการเยี่ยมชม
โซนที่ 1 EGCO Energy for Life ป่านวัตกรรมลดโลกเดือด Climate Tech – Brighten Up the World เด็กและเยาวชนจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่จะมากันเป็นหมู่คณะพร้อมกับคุณครู จะได้สวมหมวกจำลองตัวเองเป็นวิศวกรน้อย เข้าไปลุยสำรวจป่านวัตกรรมพลังงานที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไฮไลท์ที่ช่วยให้เด็กรู้สึกสนุกเพลิดเพลินไปกับการเรียนรู้ คือ การเข้าไปในตู้กระจกที่เป็นเกมจำลองการดักจับและกักเก็บคาร์บอน โดยจะมีการปล่อยก้อนโฟมกลมๆ สีเทา จำลองเป็นก้อนคาร์บอน ปะปนไปกับก้อนกลมสีขาว แล้วให้เอามือไล่จับเอาเฉพาะก้อนสีเทา เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นถึงการทำงานของเทคโนโลยี CCUS ที่เริ่มใช้กันมากขึ้นในปัจจุบันเพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน


นอกจากนี้ ยังมีฐานให้เด็กได้เล่นเกมเหยียบแผ่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และแผ่นแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน โดยให้เด็กได้เปรียบเทียบกันว่า ในแผ่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น ถ้าหยุดเหยียบแผ่นเมื่อไหร่ การผลิตไฟฟ้าจะหยุดลงทันที ในขณะที่แผ่นเหยียบที่มีการติดตั้งแบตเตอรี่นั้น หากเหยียบจนสะสมพลังงานในแบตเตอรี่เอาไว้แล้ว เมื่อหยุดเยียบแผ่น ไฟในตู้เกมก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งเด็กจะเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ต้องมีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานเข้ามาช่วยเสริม เพื่อให้เกิดเสถียรภาพ


ในโซนที่ 1 นี้ เด็กที่เข้าชมยังได้รู้จักกับนวัตกรรมที่ช่วยลดโลกร้อนอื่นๆ เช่น การผลิตกรีนไฮโดรเจน ที่มีต้นทางมาจากพลังงานสะอาด พร้อมการเล่นเกมที่ให้ค้นหานวัตกรรมจากเด็กเปล่งแสงจากทั่วทุกมุมโลกที่สามารถสร้างอุปกรณ์ต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อช่วยลดโลกร้อน เช่น หุ่นยนต์ดักจับคาร์บอน ไบโอฟิลเตอร์กรองฝุ่น มอเตอร์รถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ ที่ถูกนำไปซ่อนเอาไว้ตามจุดต่างๆ ด้วย


โซนที่ 2 Climate Tech เด็กเปล่งแสง ลดโลกเดือด ที่เป็นหนึ่งในไฮไลท์ที่เด็กๆ ชอบกันมาก เพราะเป็นการนำเด็กนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปรู้จักสาเหตุของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ผ่านโรงภาพยนตร์ Immersive Theater ซึ่งย้อนไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1850 ที่เป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม จุดเริ่มต้นของตัวแปรที่ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก มาถึงปี ค.ศ. 1920 ยุคเริ่มต้นการใช้พลังงานฟอสซิล ที่สร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตแบบก้าวกระโดด แต่ก็แลกมาด้วยการเผาผลาญพลังงานอย่างไร้ขีดจำกัด สร้างขยะ สร้างมลพิษ จนทำให้โลกเริ่มส่งสัญญาณหายนะจากปรากฏการณ์เอลนีโญในเวลาต่อมา จนมาถึงยุคปัจจุบันที่เราอยู่ในสถานการณ์โลกเดือด ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้ร้อนขึ้นเฉลี่ยเกิน 1.5 องศาเซลเซียส


โซนที่ 3 Climate Tech Innovation for Better Life นวัตกรรมวิทย์ลดโลกเดือด เปิดพื้นที่กำแพงศิลปะยักษ์ ให้เด็กที่ร่วมกิจกรรมได้แสดงความคิดและไอเดียสร้างสรรค์ หรือความตั้งใจที่จะดูแลและพัฒนาโลกใบนี้ต่อไป ด้วยการเขียนบนแผ่นโพสต์อิทแล้วนำไปแปะบนกำแพง ซึ่งดูจากจำนวนแผ่นที่ถูกเขียนและเนื้อหาที่เขียนลงไปนั้น สะท้อนถึงความเข้าใจของเด็กต่อปัญหาโลกร้อนและวิธีการร่วมแก้ไขได้เป็นอย่างดี





นิทรรศการ “นวัตกรรมวิทย์ พลิกโลก ตอน Climate Tech เด็กเปล่งแสง ลดโลกเดือด” ยังจัดต่อเนื่องให้เด็กๆ ได้มาเปล่งแสงกัน ณ อาคาร 12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เวลา 09.00-19.00 น. ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2567

หลังจบมหกรรมวิทย์ฯ ที่กรุงเทพฯ ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอมจะยกนิทรรศการ “นวัตกรรมวิทย์ พลิกโลก ตอน Climate Tech เด็กเปล่งแสง ลดโลกเดือด” ไปจัดแสดงต่อที่งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ประจำปี 2567 ของศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2567 เป็นต้นไป เพื่อจุดประกายไอเดียและส่งต่อแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมพลังงานและการหยุดยั้งปัญหาโลกเดือดให้เยาวชนในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป
ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เปิดให้เยี่ยมชมทุกวันอังคาร-วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. (หยุดวันอาทิตย์ วันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
เยาวชน นักท่องเที่ยว และประชาชนที่สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าชมล่วงหน้าได้ที่เว็บไซต์ https://www.egco.com/th/khanom-learningcenter โทร. 075 466 062 หรือ 098 014 2249
ติดตามข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับศูนย์เรียนรู้ฯ ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Khanom Learning Center https://www.facebook.com/khanomlearningcenter/