BGRIM พร้อมนำเข้า LNG ล็อตแรก 2.5 แสนตันต่อปีในครึ่งหลังของปี 2564 โดยยังรอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบ นโยบายเปิดเสรีก๊าซฯ ระยะที่2 ในขณะที่เตรียมเสนอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ขอนำเข้าเพิ่มอีก 5.5 แสนตันต่อปี ป้อนโรงไฟฟ้าเดิม 13 โรง ในส่วนที่อยู่นอกเหนือสัญญาก๊าซฯเดิมที่ทำไว้กับ ปตท.
นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM
เปิดเผยว่า บริษัท วางแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เฟสแรก 2.5 แสนตันต่อปี ภายในครึ่งหลังของปี 2564 นี้ หลังจากได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ตั้งแต่เมื่อ 27 พ.ค. 2563 ซึ่งได้ขอนำเข้าไว้ทั้งหมดจำนวน 6.5 แสนตันต่อปี
โดยหากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่คาดว่าจะประชุมในเร็วๆนี้ พิจารณาอนุมัตินโยบายเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะที่2 ให้ บี.กริม นำเข้าได้ ทาง BGRIM ก็พร้อมเริ่มกระบวนการนำเข้าได้ทันที
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับผู้นำเข้า LNG จำนวน 6 ราย และจะคัดเลือกให้เหลือเพียง 1 ราย สำหรับทำสัญญาซื้อขาย LNG ซึ่งจะเน้นการซื้อแบบสัญญาระยะยาว 7-10 ปีเป็นหลัก เพื่อนำก๊าซฯมาใช้กับโรงไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่สิ้นสุดสัญญาลง (SPP Replacement) จำนวน 5 แห่ง โดยจะใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า 110 เมกะวัตต์ต่อโรง และป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก อย่างไรก็ตามคาดว่าจะสามารถนำเข้าก๊าซฯได้ครบ 6.5 แสนตันต่อปีได้ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป
“นโยบายรัฐบาลต้องการเปิดเสรีก๊าซเพื่อให้เกิดการแข่งขัน และทำให้ราคา LNG ลดลง ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าปรับลดลงได้ ดังนั้นเชื่อว่า กพช.จะพิจารณาให้ บี.กริมนำเข้าก๊าซฯ ได้ ซึ่ง BGRIM พร้อมเริ่มกระบวนการนำเข้าได้ทันที หาก กพช.อนุมัติ” นาย ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว
นอกจากนี้ BGRIM เตรียมขออนุมัติ กกพ.นำเข้า LNG อีก 5.5 แสนตันต่อปี นอกเหนือจากปริมาณ 6.5 แสนตันต่อปีที่ได้ขออนุมัติไปแล้ว สำหรับนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับ 13 โรงไฟฟ้าเดิมของ บี.กริม ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มเติมจากเดิม ซึ่งเป็นปริมาณก๊าซฯส่วนเกินจากที่ได้ทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)ไว้แล้ว โดยมีปริมาณก๊าซฯ ส่วนเกินที่ต้องการใช้ประมาณ 25-35%
พร้อมกันนี้ยังมีแผนนำเข้าก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ในอนาคตที่จะรองรับโครงการสมาร์ทซิตี้ และโครงการ SPP ใหม่ๆ ที่จะเข้ามา ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาปริมาณความต้องการใช้ในอนาคตต่อไป