BGRIM พร้อมนำเข้า LNG 2.5 แสนตันป้อนโรงไฟฟ้าตัวเองกลางปี 64

981
- Advertisment-

BGRIM เตรียมนำเข้าก๊าซ LNG ล็อตแรก 2.5 แสนตัน กลางปี 2564 หลังได้รับใบอนุญาตเป็น Shipper จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ตั้งแต่ พ.ค. 2563 เพื่อป้อน 5 โรงไฟฟ้านอกเหนือปริมาณที่รับก๊าซตามสัญญา จาก ปตท. ในขณะที่ตั้งงบลงทุนปี 2564 จำนวน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในโครงการที่มีอยู่ ,โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และโครงการใหม่

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า บี.กริม เตรียมนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ล็อตแรก 250,000 ตัน ในช่วงกลางปี 2564 เป็นครั้งแรก หลังจากได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อ 27 พ.ค. 2563 ซึ่งได้ขอนำเข้าทั้งหมดจำนวน 6.5 แสนตันต่อปี โดยจะนำมาใช้กับ 5 โรงไฟฟ้าที่มีความต้องการใช้นอกเหนือจากสัญญาก๊าซที่มีกับ ปตท.

อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาสรุปพันธมิตรที่จะเป็นผู้นำเข้าก๊าซฯให้ บี.กริม โดยแบ่งเป็นรูปแบบการซื้อแบบตลาดจร (Spot ) 20% และเป็นแบบสัญญาซื้อขายก๊าซฯระยะยาว 70-80%

- Advertisment -

นอกจากนี้ บี.กริม ได้ยื่นขออนุญาต กกพ. นำเข้าก๊าซฯ เพิ่มเติม (ซึ่งอยู่ในโควต้า 6.5 แสนตันต่อปี) เพื่อมาใช้กับอีก 13 โรงไฟฟ้าซึ่ง ขณะนี้ กกพ.กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา

โดยตามแผนการนำเข้า LNG ของ บี.กริม นั้น มีแผนจะนำเข้าในปี 2565 จำนวน 3.5 แสนตัน และในปี 2566 จะนำเข้าเต็มจำนวน 6.5 แสนตันต่อปี เพื่อนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(SPP)ใหม่ 7 โครงการ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าSPPใหม่ที่ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่สิ้นสุดสัญญาลง(SPP Replacement) จำนวน 5 แห่ง ขนาดแห่งละ 140 เมกะวัตต์ ที่จะสร้างเสร็จในปี 2565 และโรงไฟฟ้าSPP ที่ได้รับการอนุมัติย้ายพื้นที่ก่อสร้างจาก จ.ราชบุรี ไปที่ จ.อ่างทอง จำนวน 2 โครงการ ขนาดแห่งละ 140 เมกะวัตต์

นายฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวด้วยว่า สำหรับในปี 2564 บี.กริม คาดว่า จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ ทั้งจากโครงการลงทุนใหม่และการเข้าซื้อกิจการ (M&A) เข้ามาอีกประมาณ 900-1,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) แล้ว 3,682 เมกะวัตต์ เป็นโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 3,089 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯเตรียมงบลงทุนในปี 2564 ไว้ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในโครงการที่มีอยู่ในมือ โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และโครงการใหม่

โดยกำลังการผลิตใหม่ที่จะเข้ามาในปี 2564 ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ที่กัมพูชา กำลังการผลิตติดตั้ง 39 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระยะเวลา 20 ปี กับการไฟฟ้าประเทศกัมพูชา (Electricite Du Cambodge – EDC) ซึ่งเปิดดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2563 ,โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่มุกดาหาร กำลังการผลิต 16 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จไตรมาส 1/2564

รวมทั้งยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าซื้อกิจการ (M&A) ทั้งในและต่างประเทศอีกหลายโครงการ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซในมาเลเซีย 200-350 เมกะวัตต์ ซึ่งเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเงื่อนไขสุดท้ายด้านกฎหมาย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 1 ปี 2564 ,โครงการโรงไฟฟ้า SPP ในประเทศไทย จำนวน 2-3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 300-360 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาเงื่อนไข คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 1 ปี 2564

Advertisment