ACE​ และ​ WHAUP​ ลุย​ Solar​ Farm​ ขายไฟฟ้าให้รัฐ

749
- Advertisment-

บริษัทจดทะเบียนใน​ตลาดหลักทรัพย์​ ทั้ง​ ACE​ และ​ WHAUP​ แจ้งได้สิทธิ์ขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ให้รัฐ​หลังจากที่เปิดรับซื้อล็อตใหญ่​กว่า​ 5,203​ เมกะวัตต์​ ช่วงปลายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์โดย​ ACE​ ได้ไป 18 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตเสนอขาย (PPA) รวม 112.73 เมกะวัตต์​ ส่วน​ WHAUP​ ได้​ 5​ โครงการ​ รวม​ 125.4 เมกะวัตต์​ (ตามสัดส่วนการถือหุ้น)​

โดย​ นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE​ เปิดเผยว่า​ ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกโครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 นั้น บริษัทย่อยที่ ACE ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 จํานวน 14 บริษัท ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสําหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จํานวน 18 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตเสนอขาย (PPA) รวม 112.73 เมกะวัตต์

สำหรับขั้นตอนต่อไปจะเป็นการศึกษาเงื่อนไขการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าที่เป็นคู่สัญญา และลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 14 วัน นับจาก กกพ. ประกาศผลการคัดเลือก จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการดำเนินงานก่อสร้างเพื่อกําหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายในช่วงปี พ.ศ. 2567 – 2570 ตามรายละเอียดที่กำหนดของแต่ละโครงการต่อไป

- Advertisment -

ในขณะที่​ นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์​ ​ หรือ​ WHAUP เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกจาก​ กกพ. ให้ได้สิทธิ์เป็นผู้พัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) จำนวน 5 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้ง (installed capacity) ตามสัดส่วนการถือหุ้น 125.4 เมกะวัตต์

ประกอบด้วยโครงการที่ WHAUP ถือหุ้น 100% จำนวน 3 โครงการ รวมกำลังการผลิตไฟฟ้า 59.8 เมกะวัตต์ และโครงการที่ WHAUP ร่วมลงทุนกับพันธมิตรอีก 2 โครงการ คิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น จำนวน 65.6 MW

โดยโครงการ Solar Farm ทั้งหมด แบ่งเป็น Solar Farm ปกติ 4 โครงการ และอีก 1 โครงการเป็น Solar Farm ที่มีการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS ) ร่วมด้วย ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ อาทิ จังหวัดอุบลราชธานี บุรีรัมย์ ราชบุรี และกาญจนบุรี และมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในช่วงปี 2572 – 2573

ในส่วนของ​ บี.กริม เพาเวอร์​ ก็แจ้งว่า 9​ บริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุน​ ก็ได้รับคัดเลือก จำนวน 15 โครงการ​ เช่นเดียวกัน คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 339.3 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2569-2573

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าว​พลังงาน​ ( Energy​ News ​Center-ENC​ )​ รายงานว่า​ การออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน​ ในระบบ​ Feed-in Tariff​ ของ​ กกพ.​ เป็นไปตามมติ​คณะกรรมการ​นโยบายพลังงานแห่งชาติ​ ในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์​ โดยมีนโยบายให้รับซื้อไฟฟ้าเป็นล็อตใหญ่ในคราวเดียวกัน​ ระยะแรก​ จำนวน​ 5,203​ เมกะวัตต์​ และระยะที่ 2 ​อีก​จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ โดยบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกส่วนใหญ่​อยู่ในกลุ่มของบริษัทด้านพลังงานที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

Advertisment