ACE ชูแนวทาง “ลดเผา รายได้เพิ่ม” เปิดรับซื้อวัสดุทางการเกษตรกว่า 50 ชนิดป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวล 12 แห่งทั่วประเทศ รวมกว่า 1.7 ล้านตัน สอดรับนโยบายภาครัฐร่วมลด PM 2.5 โดยประเมินตลอด 9 ปีที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท มีส่วนทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ทดแทนการเผาได้ปีละมากกว่า 1,200 ล้านบาท และช่วยกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในชุมชน รวมมากกว่า 5,000 ล้านบาท
นางสาวจิรฐา ทรงเมตตา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE เปิดเผยว่า บริษัท ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ของประเทศที่ลุกลามรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2563 ได้มีมติเห็นชอบให้จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติใน การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM 2.5 โดยเร่งด่วน
โดยในส่วนของ ACE ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาหลายปีบนหลักการ ESG (Environmental, Social, and Governance) ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาล ภายใต้แนวทาง “ลดเผา รายได้เพิ่ม” ที่เปิดรับซื้อวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรที่หลากหลายกว่า 50 ชนิด อาทิ ฟางข้าว แกลบ ใบอ้อย ต้นข้าวโพด ซังข้าวโพด ฯลฯ เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทฯ รวม 12 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ในปี 2563 และ 2564 ตั้งเป้าหมายรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านตัน
โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง ซึ่งมักเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 บริษัทฯ จะเปิดรับซื้อในปริมาณมากขึ้น 40-50% ของปริมาณรับซื้อปกติ เพื่อลดฝุ่นละอองและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งที่ผ่านมาในแต่ละปีสามารถช่วยลดได้มากกว่า 434 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ทั้งนี้ตลอด 9 ปีตั้งแต่ปี 2555 การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลของ ACE ได้รับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตรในปริมาณรวมแล้วมากกว่า 5 ล้านตัน มีส่วนช่วยลดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่โล่งเทียบเท่าปริมาณ PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาฟางข้าว ตอซังข้าวในนาข้าวเนื้อที่รวมกว่า 10.8 ล้านไร่/ปี
ขณะเดียวกันยังเป็นช่องทางให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ทดแทนการเผาได้ปีละมากกว่า 1,200 ล้านบาท ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในชุมชน มากกว่า 5,000 ล้านบาท
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าชีวมวลของ ACE มีทั้งหมด 12 โครงการ รวมกำลังผลิต 988 ล้านหน่วยต่อปี กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ อาทิ ชลบุรี, ขอนแก่น, สุรินทร์, นครราชสีมา, ร้อยเอ็ด, บุรีรัมย์, ลำปาง, หนองคาย, อุบลราชธานี, กาญจนบุรี ซึ่งแต่ละพื้นที่ล้วนเป็นพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศ