ครม. อนุมัติ 4 โครงการใหญ่ EEC รวมขยายท่าเรือมาบตาพุด รองรับขนถ่ายน้ำมัน-ก๊าซฯ

750
ครม. อนุมัติ 4 โครงการใหญ่ EEC รวมขยายท่าเรือมาบตาพุด รองรับขนถ่ายน้ำมัน-ก๊าซฯ
- Advertisment-

ครม. มีมติอนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภายใต้การพัฒนา EEC จำนวน 4 โครงการ รวมทั้งโครงการขยายท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถขนถ่ายสินค้าเหลว เช่น น้ำมัน และ LNG โดยคาดว่าจะสามารถหาผู้ลงทุนทั้ง 4 โครงการได้ภายใน ก.พ. 62  และคาดว่าแผนการลงทุนในโครงการดังกล่าว รวมถึงโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินที่ได้อนุมัติไปก่อนหน้านี้แล้ว จะยังเดินหน้าต่อแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลในอนาคต

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นอกสถานที่ จ. เชียงราย วันนี้  (30 ต.ค. 2561) มีมติอนุมัติหลักการและกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายโครงการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา 2. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 3. โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และ 4. โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยคาดว่าจะสามารถคัดเลือกเอกชนผู้ลงทุนในทั้ง 4 โครงการ ได้ภายในเดือนกุมภาพันธุ์ ปี 2562

ทั้งนี้ เมื่อรวมมูลค่าการลงทุนของทั้ง 4 โครงการที่เพิ่งได้รับอนุมัตินี้ กับโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่ง ครม. ได้อนุมัติไปก่อนหน้า และได้มีการประกาศร่างเงื่อนไขประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง (TOR)  ไปแล้ว จะมีมูลค่าการลงทุนรวม 6.5 แสนล้านบาท ซี่งคาดว่าจะก่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงถึง 8.2 แสนล้านบาท ผลตอบแทนทางการเงิน 5.6 แสนล้านบาท และเกิดการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 40,000 คนต่อปี

- Advertisment -

นายณัฐพร กล่าวด้วยว่า แผนการลงทุนในโครงการดังกล่าวนี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล เพราะมีกฎหมายรองรับ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า สำหรับโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เป็นการขยายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายสินค้าเหลว เช่น น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นท่าเรืออุตสาหกรรมระดับภูมิภาค มีการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยเพิ่มความสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าพลังงาน  คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ต้นปี 2568

ขณะที่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีกิจกรรมรวม 6 ประเภท คือ อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ศูนย์ธุรกิจการค้า ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เขตประกอบการค้าเสรี ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ กำหนดเปิดดำเนินการในปี 2566

โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา เป็นการย้ายศูนย์ซ่อมของการบินไทยออกจากที่เดิม เพื่อก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และอาคารผู้โดยสารใหม่ เพื่อใช้เป็นศูนย์ซ่อมใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และทันสมัยมากขึ้น ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานและผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในภูมิภาค คาดว่าเปิดดำเนินการกลางปี 2565

และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ให้เป็นท่าเรือทันสมัยใช้ระบบอัตโนมัติ เพื่อเป็นประตูส่งออกและ เพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกของประเทศ

Advertisment