สนธิรัตน์ เผยเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมเร็วขึ้น270เมกะวัตต์เข้าระบบปี65-67

1896
cof
- Advertisment-

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเผยเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม 270เมกะวัตต์ ช่วง3ปี (2565-2567) จากเดิมที่จะต้องเข้าระบบในปี 2577 โดยจะมีอัตราส่งเสริมค่าไฟฟ้าในรูป Feed in Tariff -FiT ที่ต่ำกว่าเดิม เนื่องจากเทคโนโลยีกังหันลมมีต้นทุนที่ถูกลง  ซึ่งต้องรอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ให้ความเห็นชอบ ก่อนเตรียมออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม ภายในปี2563 ในปริมาณ 90เมกะวัตต์

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือPDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 จะมีการเร่งโครงการไฟฟ้าจากพลังงานลมเข้าระบบเร็วขึ้น จำนวน270เมกะวัตต์ ในช่วง3ปี ปีละ90เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2565-2567

โดยจะมีการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมในปี 2563 จำนวน 90 เมกะวัตต์ เพื่อให้ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป
ส่วนปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมในปีอื่นๆ จะมีการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม อัตราค่าไฟฟ้าที่ส่งเสริมตามต้นทุนที่แท้จริง(Feed in Tariff -FiT) จะต่ำกว่า เดิม เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนของเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมปรับลดลงมาก ในขณะที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น ซึ่งสอดรับกับนโยบายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก  ส่วนรายละเอียดต้องรอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)พิจารณาเห็นชอบก่อน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า  ในแผน PDP2018 ก่อนที่จะมีการปรับปรุงใหม่ กำหนดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม รวมจำนวน 1,485 เมกะวัตต์ แต่จะทะยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี2577 เป็นต้นไป เนื่องจาก ต้องการให้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม พัฒนาจนมีต้นทุนที่ต่ำที่สุดก่อน  เนื่องจากก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงานได้มีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมไปแล้ว กว่า 1,500เมกะวัตต์ โดยที่มีอัตราFiT อยู่ที่ 6.06 บาทต่อหน่วย และถ้าตั้งอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้รับค่าไฟฟ้าบวกเพิ่มจากเดิมอีก 0.50 บาทต่อหน่วย

อย่างไรก็ตามในแผนPDP2018ฉบับที่ปรับปรุงใหม่ มีการเร่งการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมให้เร็วขึ้น จำนวน270เมกะวัตต์  เนื่องจากมีเอกชนบางรายทำการศึกษาความเป็นไปได้ของศักยภาพพลังงานลมแล้ว พบว่า มีเทคโนโลยีกังหันลมที่สามารถผลิตไฟฟ้าด้วยกำลังแรงลมที่ไม่สูงมากแบบประเทศไทยได้   เพียงแต่ต้องรอดูว่า รัฐจะกำหนดอัตราFiT ใหม่สำหรับไฟฟ้าจากพลังงานลมอย่างไร

ในขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ไฟฟ้าจากพลังงานลม  ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในพื้นที่ ที่ไม่มีโหลดความต้องการใช้  อยู่ไกลระบบสายส่ง  มีอัตราการสูญเสียในระบบสูง และระบบพึ่งพาไฟฟ้าได้น้อย ไม่ถึง20%ของกำลังผลิตติดตั้ง  ซึ่งหากรัฐต้องการจะส่งเสริมในบทบาทที่เป็นพลังงานหมุนเวียน ควรจะให้มีการประมูลแข่งขันกับ ไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ จะเป็นประโยชน์ต่อระบบไฟฟ้าของประเทศมากกว่า

Advertisment