กฟผ.เผยยังเดินหน้าลงทุนโรงไฟฟ้าภาคใต้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (2561-2580) หรือ PDP2018 จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยรอดูความชัดเจนในนโยบาย หลังจากที่ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21ม.ค.2563 ที่ผ่านมาเห็นชอบแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำเสนอ ซึ่งจะมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ไม่สอดคล้องกับแผน PDP2018 ที่ครม.เคยอนุมัติไปก่อนหน้านี้
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึง มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21ม.ค.2563 ที่เห็นชอบในหลักการของแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเสนอโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ระบุให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 930 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าที่จะสร้างใหม่ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,700 เมกะวัตต์ ที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ว่า ในส่วนของกฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ยังคงยึดตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(2561-2580) หรือ แผนPDP2018 ที่ในส่วนของโรงไฟฟ้าภาคใต้เพื่อความมั่นคง กฟผ.จะเป็นผู้ลงทุนในโรงไฟฟ้าสุราษฏร์ธานี โรงใหม่ ทั้ง 2โรง กำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2570และ2572
ทั้งนี้ที่ผ่านมา ทาง ศอ.บต. ไม่ได้มีการประสานหารือกับ กฟผ. เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าภายใต้แผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ทางศอ.บต.เป็นผู้รับผิดชอบแต่อย่างใด โดยกฟผ.จะต้องรอดูความชัดเจนในนโยบายว่าจะตัดสินใจอย่างไร
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า แผนPDP2018 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2562 นั้นมีสาระสำคัญในการลงทุนโรงไฟฟ้าภาคใต้เพื่อความมั่นคงที่แตกต่างไปจาก แผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่เสนอโดย ศอ.บต.
โดยในแผนPDP2018 กำหนดให้ กฟผ.เป็นผู้ลงทุนโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี โรงใหม่ 2โรงโรงละ700เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2570และ2572 และในปี2577 จะเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง กำลังการผลิต 1,000เมกะวัตต์ และในปี 2578 จะมีโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ขนาด 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟเข้าระบบ รวมอีก1,700เมกะวัตต์ ซึ่งยังไม่ได้ระบุว่า จะเป็น กฟผ.หรือเอกชน เป็นผู้ลงทุน
ส่วน แผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ศอ.บต.นำเสนอให้ครม.เห็นชอบ เมื่อวันที่ 21ม.ค.2563 ที่ผ่านมา นั้น มีรายละเอียดระบุให้ สร้างโรงไฟฟ้าโดยเอกชนรายใหญ่ กำลังการผลิตรวม 2,630เมกะวัตต์ โดย แยกเป็นโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงขนาด930เมกะวัตต์ และสร้างที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา อีก1,700เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเช่นเดียวกัน โดยมีแผนจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี2566 ซึ่งเอกชนผู้พัฒนาโครงการกำลังเร่งรัดให้มีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือPPA กับกฟผ. และคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี
ทั้งนี้หากคณะรัฐมนตรี มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดเอาแผนของศอ.บต. เป็นแผนหลักในการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงที่ภาคใต้ จะทำให้ต้องมีการปรับปรุงแผนPDP2018 ใหม่ ซึ่ง ทำให้กฟผ.อาจจะไม่ได้สร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี โรงใหม่ ครบทั้ง1,400เมกะวัตต์ โดยกำลังการผลิตส่วนหนึ่ง จะต้องให้เอกชน เป็นผู้ลงทุนแทน