เชฟรอนเตรียมนำแท่นขุดเจาะ “เซปเตอร์” (Scepter) มาใช้ในการปิดและสละหลุมผลิตปิโตรเลียม (Well Plug and Abandonment ) ที่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมระดับโลก เพื่อเตรียมการรื้อถอนแท่นหลุมผลิตในอ่าวไทย
แท่นขุดเจาะเซปเตอร์เป็นของบริษัท เชล์ฟ ดริลลิ่ง หนึ่งในผู้นำการให้บริการด้านงานขุดเจาะที่มีประสบการณ์ด้านงานขุดเจาะมาตรฐานระดับโลก ซึ่งได้มีพิธีเปิดบ้าน ( Open House ) ต้อนรับผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสื่อมวลชน ขึ้นไปเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายจากพนักงานบนแท่นขุดเจาะเกี่ยวกับกระบวนการทำงานเบื้องต้นไปเมื่อเร็วๆ นี้ ที่อู่ต่อเรือของบริษัทยูนิไทย ท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนที่จะส่งลงไปเริ่มต้นทำงานตามสัญญาในพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมของเชฟรอนในอ่าวไทย ช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2562
โดยเชฟรอนได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับทางเชล์ฟ ดริลลิ่ง เพื่อยกระดับสมรรถนะของแท่นขุดเจาะเซปเตอร์ที่เคยผ่านงานด้านการขุดเจาะหลุมผลิตปิโตรเลียมที่อ่าวเม็กซิโกมาแล้ว ให้เหมาะกับการปฏิบัติการปิดและสละหลุมถาวรในแหล่งปิโตรเลียมที่อ่าวไทยโดยเฉพาะ เพื่อให้การดำเนินงานมีความปลอดภัยและปกป้องสิ่งแวดล้อม ตามกฏหมายประเทศไทยและมาตรฐานสากล
แท่นขุดเจาะเซปเตอร์ ประกอบด้วยขาแท่นสามขา แต่ละขายาว 480 ฟุต เหมาะสำหรับการขุดเจาะในพื้นที่น้ำลึกไม่เกิน 350 ฟุต รองรับคนที่ขึ้นไปทำงานบนแท่นได้สูงสุดประมาณ 150 คน แท่นขุดนี้มีสมรรถนะในการดึงมากกว่า 4 เท่าของน้ำหนักที่ต้องใช้ในงานจริง จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการทำงาน
นาย ทันตะวัน ไพรัชวินิจฉัย ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการขุดเจาะ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด อธิบายว่า ภารกิจหลักของเซปเตอร์คือการเข้าไปปิดและสละหลุมถาวรในส่วนของหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่มีปิโตรเลียมเหลืออยู่แล้ว โดยหนึ่งในขั้นตอนสำคัญคือการอัดซีเมนต์ลงไปในท่อกรุและท่อผลิตที่ขุดลงไปจนถึงชั้นหินกักเก็บปิโตรเลียม ซึ่งเมื่อซีเมนต์แข็งตัวแล้วก็จะทำการทดสอบให้มั่นใจว่าไม่มีปิโตรเลียมรั่วไหลออกมาได้อีก ทั้งนี้นอกจากข้อกำหนดตามกฎหมายแล้ว เชฟรอนยังมีกระบวนการทำงานต่างๆ ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยที่ชื่อว่า Well Safe ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนามาจากระบบ Sub Safe ที่ใช้กับเรือดำน้ำพลังงานปรมาณูของกองทัพสหรัฐอเมริกา เพื่อมาใช้ในการควบคุมการทำงานขุดเจาะอย่างเคร่งครัด ป้องกันไม่ให้มีอุบัติภัยเกิดขึ้น และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอน
ทั้งนี้ระบบ Well Safe ของเชฟรอน จะให้ความสำคัญกับเรื่องของบุคลากรที่ต้องผ่านการอบรมและปฏิบัติตามแนวทางการทำงานตามคู่มือความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เรื่องของอุปกรณ์ที่จะต้องได้มาตรฐานและสามารถใช้งานได้ดีมีประสิทธิภาพ มีการซ่อมบำรุงรักษาตามกำหนด มีการออกแบบ วางแผนการขุดเจาะให้ใช้อุปกรณ์อย่างถูกต้อง เหมาะสม และการติดตามตรวจสอบจากคนกลางว่าในระหว่างการดำเนินการขุดเจาะนั้นมีการปฏิบัติตามแผนที่วางเอาไว้จริง
โดยหลังจากผ่านขั้นตอนการปิดและสละหลุมถาวรแล้ว ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนการรื้อถอนโครงสร้างแท่นหลุมผลิต ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล หรือโครงสร้างส่วนบน (Topside) จะมีการตัดและยกขึ้นเพื่อไปทำการรื้อถอนบนฝั่ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดการต่อไป เช่น ทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือการนำไปแยกชิ้นส่วนออกมารีไซเคิลในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้อง ขณะที่โครงสร้างส่วนของขาแท่นเหล็กที่อยู่ใต้น้ำ (Jacket) จะถูกนำไปจัดการตามรูปแบบที่ภาครัฐและผู้รับสัมปทานมีข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งอาจรวมถึงการตัดและนำไปจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ ช่วยอนุรักษ์ระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล
ที่ผ่านมาเชฟรอนได้ดำเนินการปิดและสละหลุมถาวรในส่วนของหลุมผลิตที่ไม่มีปิโตรเลียมเหลืออยู่ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว แต่การเลือกใช้ “เซปเตอร์” ที่มีการเปิดตัวล่าสุดนั้น แสดงให้เห็นว่าเชฟรอนให้ความสำคัญสูงสุดด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมกับงานรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่ทางเชฟรอนเป็นผู้รับสัมปทาน และมีบางส่วนที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565 นี้