กระทรวงพลังงานปักหมุดเป็นเจ้าแรกที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)ด้านพลังงานของ7หน่วยงานในกำกับดูแล จัดตั้งเป็นศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ ที่มีบทบาทเป็นศูนย์กลางในการรวบรวม เชื่อมโยง บูรณาการ วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานหลักของประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เข้าใจง่าย มีการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย ตั้งเป้า6เดือนเริ่มเห็นผลในทางปฏิบัติ
ทั้ง7หน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานที่จะทำการศึกษาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และออกแบบการพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อรองรับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการขับเคลื่อนแผนพลังงานของประเทศไทย ร่วมกัน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งผู้แทนของแต่ละหน่วยงานได้ร่วมลงนามความร่วมมือ ไปเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดยมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน
ระบบBig Data ดังกล่าวจะทำงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ออกแบบเชื่อมโยงกับระบบ Internet of Thing หรือ IoT) โดยมีระบบสมองกลอัจฉริยะ(AI)มาช่วยประเมินและวิเคราะห์ข้อมูล ที่จะแปลงจากข้อมูลปกติเป็นข้อมูลเชิงลึก (Insights) ด้านพลังงาน ที่จะนำไปต่อยอดในการบริหารจัดการนโยบายด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกำหนดกรอบระยะเวลาเอาไว้ว่าภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันลงนาม จะต้องเห็นการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน พร้อมมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ โดยหากดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ กระทรวงพลังงานจะกลายเป็นกระทรวงแรกที่เชื่อมโยง Big Data เอาไว้ในที่เดียวกัน
โดยประโยชน์ของการจัดทำระบบBig Data คือการ วิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกของ 5 แผนหลักระยะยาว 20 ปีของกระทรวงพลังงาน ประกอบด้วย 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(PDP) 2.แผนอนุรักษ์พลังงาน(EEP) 3.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP) 4. แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ(Gas Plan ) และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง(Oil Plan) ได้อย่างแม่นยำ มีประสิทธิภาพ ว่าแต่ละแผนมีความคืบหน้าในการปฏิบัติอย่างไร มีส่วนใดที่ต้องปรับปรุงแก้ไข หรือสามารถนำข้อมูลมาประมวลผลวิเคราะห์ทิศทางพลังงานประเทศ เพื่อกำหนดนโยบายได้ตรงความต้องการของประชาชน หรือช่วยแก้ไขปัญหาฉุกเฉินวิกฤติพลังงานได้ทันท่วงทีอย่างเหมาะสม รวมถึงการให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับนโยบาย Energy For All หรือ พลังงานเพื่อทุกคน ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมรูปแบบการทำงานของกระทรวงพลังงานและหน่วยงานรัฐให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของโลกต่อไป