ใครที่มีโอกาสได้แวะเวียนไปงาน Future Energy Show ที่อิมแพคเมืองทองธานี เมื่อเร็วๆนี้ และได้ไปชมบูธนิทรรศการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งร่วมจัดแสดง ก็คงจะได้รู้แล้วว่า กฟผ.เตรียมรับมือกับทิศทางการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และพลังงานลม ที่จะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นอย่างไร เพื่อให้การบริหารจัดการระบบไฟฟ้าของประเทศ โดย กฟผ.ยังคงความมั่นคงได้ โดยที่ไม่มีปัญหาไฟตก ไฟดับ หรือมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงเกินความจำเป็น
ทั้งนี้ กฟผ. มีการนำองค์ความรู้ในเรื่องของ Renewable Energy Integration Technologies มาจัดแสดงและบรรยายให้ผู้ร่วมงานได้เข้าใจถึงกระบวนการบริหารจัดการในส่วนของศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ (National Control Center –NCC ) และศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Control Center ) และเทคโนโลยีที่เพิ่มเติมเข้ามา ทั้ง โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำระบบสูบกลับ (Pumped -Storage Hydroelectric – PSH) ระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System) การลดใช้ไฟฟ้าด้วยความสมัครใจ (BESS Demand Response – DR) และ โรงไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่นในการสั่งเดินเครื่องผลิต (Power Plant Flexibility – PPF) ที่เตรียมไว้รับมือกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่ยังมีปัญหาเรื่องความไม่แน่นอนในการผลิตไฟฟ้า โดยไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จะผลิตได้เฉพาะช่วงเวลากลางวันที่มีแสงแดด พลังงานลมผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะช่วงที่มีลม ส่วนไฟฟ้าจากชีวมวลหรือก๊าซชีวภาพ ก็ผลิตได้เฉพาะช่วงที่มีเชื้อเพลิง และส่วนใหญ่เป็นประเภทสัญญาที่เรียกว่า non-firm
ปัจจุบัน การวางแผนและสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า เริ่มจากการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทจำเป็นต้องเดินเครื่องเพื่อรักษาความมั่นคง หรือที่เรียกว่า Must run ซึ่งหากไม่เดินเครื่องโรงไฟฟ้าเหล่านี้แล้วระบบไฟฟ้าจะมีความมั่นคงลดลง เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินใดเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นอาจทำให้ไฟฟ้าดับได้ ลำดับถัดมาคือ สั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทจำเป็นต้องรับซื้อขั้นต่ำตามสัญญา หรือที่เรียกว่า Must take ทั้งด้านไฟฟ้า ได้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก ประเภท SPP Firm & SPP non-firm และด้านเชื้อเพลิง ได้แก่สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งหากไม่เดินเครื่องโรงไฟฟ้าเหล่านี้แล้วจะนำไปสู่การจ่ายเงินค่าซื้อไฟฟ้าหรือซื้อก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำโดยไม่ได้รับพลังงานไฟฟ้า ส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า และการสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า จะเริ่มจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตต่ำสุดตามลำดับ (Merit order) ตามความต้องการไฟฟ้าขณะนั้นๆ ในส่วนที่เหลือจากการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในสองส่วนแรก (Must run และ Must take)
อย่างไรก็ตาม เมื่อภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และกำหนด ให้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเหล่านั้น ได้สิทธิ์จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบก่อน กฟผ.จึงจำเป็นจะต้องมีการจัดตั้ง Renewable Energy Control Center ขึ้นมา เพื่อให้สามารถที่จะทราบล่วงหน้าได้ว่า โรงไฟฟ้าเหล่านี้ ตั้งอยู่ที่จุดใด และผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปริมาณเท่าไหร่ ทั้งที่เป็นเรียลไทม์ หรือเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้า 1วัน หรือสัปดาห์ เพื่อจะได้เตรียมกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเอาไว้ กรณีที่โรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามแผน โดยตัวช่วยที่สำคัญของ กฟผ.คือโรงไฟฟ้าประเภทกังหันก๊าซ ที่สามารถสั่งเพิ่มกำลังการผลิตได้ทันที เหมือนการเร่งเครื่องยนต์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ที่สามารถปล่อยน้ำผลิตไฟฟ้าได้ทันทีเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีที่ กฟผ. มีการศึกษาทดลองควบคู่กันไป ซึ่งเป็นระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ขนาดใหญ่ ที่ในยามที่ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจ่ายเข้าระบบแล้วยังไม่มีความต้องการใช้ ไฟฟ้าก็จะถูกส่งมากักเก็บไว้ในระบบแบตเตอรี่ ซึ่งในช่วงที่ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผลิตไฟไม่ได้ หรือโรงไฟฟ้าหลักเพิ่มกำลังการผลิตได้ไม่ทัน ไฟฟ้าจากระบบแบตเตอรี่ดังกล่าว ก็จะถูกนำมาใช้เพื่อเสริมความมั่นคง
ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา การผลิตไฟฟ้าจากลมและแสงแดด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นั้น กฟผ. ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการผลิตไฟฟ้า โดยข้อมูลดังกล่าวถูกส่งไปยังศูนย์ควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำให้การวางแผนบริหารจัดการระบบส่งไฟฟ้ายังมีช่องโหว่ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อศูนย์ควบคุมระบบส่งไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ.ได้ดำเนินการ เชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่าง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานกกพ. และ กฟผ. เข้าด้วยกัน ก็จะทำให้ช่องโหว่ในการบริหารจัดการระบบส่งไฟฟ้าหมดไป
ถือเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่จะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นในอนาคตได้อย่างมั่นใจ เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้ไฟฟ้า