บทความ : งบประมาณสวนทางกับหน้าที่
ประเด็นที่หลายคนอาจยังไม่รู้ คือ ในรายได้ที่ภาครัฐจัดเก็บเพื่อนำไปใช้เป็นงบประมาณแผ่นดินสำหรับการพัฒนาประเทศไทยในด้านต่างๆ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน นั้น ส่วนหนึ่งของรายได้ที่สำคัญมาจากการดำเนินงานด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการปิโตรเลียมของประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบการจัดเก็บในส่วนของ ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ ค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาผลิต และรายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย เพื่อนำส่งต่อให้กระทรวงการคลัง ในขณะที่ส่วนของภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่มีอัตราจัดเก็บ 50% ซึ่งสูงกว่าการประกอบธุรกิจทั่วไป ทางกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เป็นผู้รับผิดชอบ
มีข้อมูลที่น่าสนใจจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ว่า หากนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการผลิตปิโตรเลียมจนถึงปัจจุบัน (ปี 2524-2562) ธุรกิจการประกอบกิจการปิโตรเลียมภายใต้ระบบสัมปทานนั้น สามารถสร้างรายได้ให้กับภาครัฐจำนวนรวมทั้งสิ้นกว่า 2,324,976 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นรายได้ในรูปแบบค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ ค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาผลิต และรายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ที่จัดเก็บโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,081,939 ล้านบาท และในรูปแบบภาษีเงินได้ปิโตรเลียม อีกจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,243,037 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆที่รัฐให้สัมปทานกับเอกชนดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากการที่รัฐโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไม่สามารถเปิดให้ยื่นขอสิทธิเพื่อค้นหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ๆ ได้นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เนื่องจากถูกคัดค้านจากกลุ่มคนที่เห็นต่างกับนโยบายพลังงาน ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะมีรายได้จากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต รวมทั้งโอกาสในการที่จะเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ เพราะทุกบาร์เรลของปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในประเทศ หมายถึงการนำเข้าที่ลดลง ช่วยลดปริมาณการนำเข้าปิโตรเลียมจากต่างประเทศได้ถึงปีละ 3-5 แสนล้านบาท
ในขณะที่กิจการด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมช่วยสร้างทั้งความมั่นคงทางพลังงานและรายได้จำนวนนับแสนล้านบาทต่อปีให้กับภาครัฐ (ตัวเลขรายได้ย้อนหลัง 5 ปี ในปี 2562 มีรายได้อยู่ที่จำนวน 166,332 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 110,677 ล้านบาท ปี 2560 จำนวน 99,577ล้านบาท ปี 2559 จำนวน 117,182 ล้านบาท และปี 2558 จำนวน 162,799 ล้านบาท) แต่งบประมาณของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่เป็นหน่วยงานบริหารจัดการและกำกับดูแลเรื่องนี้ กลับได้รับการจัดสรรเพียงประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 0.002% ของรายได้ที่จัดหาให้กับประเทศเท่านั้น เมื่อเทียบกับภาระที่หน่วยงานต้องแบกรับทั้งการสร้างรายได้และการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนั้น เมื่อรัฐบาลมีการเปลี่ยนนโยบายการบริหารจัดการปิโตรเลียมจากระบบสัมปทาน มาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC ในแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะสิ้นสุดอายุในปี 2565-2566 บทบาทหน้าที่และภารกิจของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะหนักขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะต้องมีคนเข้าไปกำกับ ดูแลงาน และอนุมัติตัดสินใจ ในแต่ละขั้นตอนของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม อย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อที่จะไม่ให้กระบวนการผลิตปิโตรเลียมสะดุดหรือหยุดชะงัก ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศ
ดังนั้น ความชัดเจนของนโยบาย กฎหมาย และกรอบงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรอย่างเพียงพอ จะเป็นกลไกที่จะขับเคลื่อนภารกิจสำคัญนี้ให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน