กระทรวงพลังงานจับมือค่ายรถยนต์ โรงกลั่น ผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ผู้ผลิตไบโอดีเซล และตัวแทนชาวสวนปาล์ม สร้างความเชื่อมั่นน้ำมันดีเซลB10 ที่จะประกาศเป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศวันที่ 1 มกราคม 2563 นี้ เป็นต้นไป ตั้งเป้ายอดใช้สูงถึง57ล้านลิตรต่อวัน หวังช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ได้ประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของประเทศปัจจุบันหรือประมาณ 2.2 ล้านตัน/ปี และลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ประมาณ 1.8 ล้านลิตร/วัน ในขณะที่เตรียมความพร้อมส่งเสริมการให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นเกรดพื้นฐานกลุ่มเบนซิน เป็นเป้าต่อไป
วันนี้ (28 ต.ค.62) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 โดยมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย รวมทั้งสมาพันธ์สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อเป็นการยืนยันถึงความพร้อมของทุกฝ่ายในการสนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซล B10 เป็นดีเซลฐานแทน B7 เดิม โดยมีการกำหนดให้ B10 เป็นดีเซลฐานสำหรับรถดีเซลทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 และให้ B7 เป็นดีเซลทางเลือกสำหรับรถรุ่นเก่าและรถยุโรป และB20 เป็นดีเซลทางเลือกสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีการจำหน่ายในปั๊มน้ำมันบางแห่งเท่านั้น ในขณะที่ B10 จะมีจำหน่ายในทุกสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายการใช้B10 อยู่ที่ 57 ล้านลิตรต่อวันหากมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะทำให้ยอดการใช้น้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 2.2 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 2ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของประเทศ โดยเป็นการช่วยสร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันทำให้ราคาสูงขึ้น รวมทั้งยังช่วยลดปริมาณฝุ่นพิษ PM 2.5 อีกทั้งยังประหยัดการนำเข้าน้ำมันได้ถึงประมาณ 1.8 ล้านลิตร/วัน
สำหรับข้อกังวลที่มีต่อเครื่องยนต์ในบางรุ่นนั้นทางค่ายรถยนต์ที่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ อาทิ โตโยต้า อีซูซุ นิสสัน ฟอร์ด เอ็มจี เชฟโรเล็ต ต่างยืนยันว่าสามารถใช้B10ได้โดยไม่มีปัญหา ส่วนรถรุ่นเก่า และรถค่ายยุโรปก็ยังมีน้ำมันทางเลือก B7 ไว้รองรับ โดยกระทรวงพลังงานจะกำกับดูแล ตรวจสอบคุณภาพน้ำมันตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการจำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมัน
น้ำมัน B10 จะมีราคาถูกกว่า B7 ถึงลิตรละ 2 บาท เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกิดการใช้ โดยปัจจุบัน จำนวนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลของไทยมีประมาณ 10.5 ล้านคัน (ก.ค.62) เป็นรถที่ใช้ B10 ได้ประมาณ 5.3 ล้านคันหรือประมาณ 50% ที่เหลือเป็นรถดีเซลรุ่นเก่ามากๆ และรถยุโรปราคาแพง ซึ่งก็มีทางเลือกในการใช้ B7 ได้
สำหรับความคืบหน้าในการวางมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ(CPO)สำหรับมาผลิตน้ำมันไบโอดีเซลนั้น เบื้องต้นจะมีอีก 2 แนวทางที่จะพิจารณานำมาใช้ นอกเหนือจากมาตรการเติมสารปรุงแต่ง(Marker)ลงในน้ำมันปาล์มดิบเพื่อให้น้ำมันB10 มีคุณลักษณะพิเศษที่มีเฉพาะในไทย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่สามารถควบคุมการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบได้เช่นกัน โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้
ด้านนางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ในการติดสติ๊กเกอร์ B10 ให้กับรถยนต์ที่พร้อมเติมB10 นั้น ทางผู้ค้าน้ำมันแต่ละค่ายจะเป็นผู้จัดทำสติ๊กเกอร์ออกมา แล้วนำไปติดที่บริเวณด้านในฝาเติมน้ำมันของตัวรถ เพื่อแสดงให้ประชาชนมั่นใจว่ารถยนต์ใหม่นั้นสามารถที่จะเติมB10 ได้ ส่วนรถยนต์เก่าได้ขอความร่วมมือค่ายรถและอู่รถยนต์เป็นผู้ติดสติ๊กเกอร์ให้สำหรับรถที่มีความพร้อมใช้ หรือ ที่มีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์บางอย่างแล้ว เพื่อการันตีว่ารถยนต์สามารถเติมB10 ได้ เช่นกัน
นอกจากนี้ ในสัปดาห์นี้ กรมธุรกิจพลังงานคาดว่าจะเชิญผู้ค้าน้ำมันและกลุ่มโรงกลั่นฯเข้ามาหารือถึงความพร้อมในการส่งเสริมการใช้เอทานอล ตามแนวทางส่งเสริมการให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 (น้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอล 20%ทุกลิตร)เป็นน้ำมันเกรดพื้นฐานกลุ่มเบนซินต่อไป คาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆนี้ เพื่อสรุปแผนที่ชัดเจนเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาต่อไป โดยปัจจุบัน มียอดการใช้ E20 รวมทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 8-9 ล้านลิตรต่อวัน
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า ทางOR มีสถานีบริการB10 ตั้งแต่เดือนพ.ค. 2562ที่ผ่านมาแล้ว 60 แห่ง รวมทั้งมีความพร้อมด้านคลังน้ำมันหลักB100 จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ คลังน้ำมันสุราษฎร์ธานี ,คลังสงขลา ,คลังลำลูกกา ,คลังน้ำมันของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC และคลังน้ำมันพระโขนง โดยแผนการจำหน่ายน้ำมันB10 ของ OR นั้นตั้งเป้าภายในวันที่ 1 ม.ค.2563 จะมีสถานีบริการน้ำมันB10 ทุกจังหวัด และภายในเดือนมี.ค.2563 จะมีครบในสถานีบริการทั้ง 1,800 แห่ง
ปัจจุบันกลุ่ม ปตท. มีส่วนแบ่งทางการตลาดน้ำมันอยู่ที่ 40% ของยอดขายทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ปตท.ยังคงจำหน่ายน้ำมันดีเซลB7 เพื่อเป็นทางเลือก โดยจะเลือกจำหน่ายในบางพื้นที่ที่ยังมีความต้องการเท่านั้น ส่วนจะเหลือหัวจ่าย B7กี่ปั๊มต้องดูตามความต้องการของผู้บริโภคก่อน
“ปตท.ยังคงหลักการลดความหลากหลายชนิดน้ำมันลง เนื่องจากเป็นต้นทุน ขณะที่ต่างประเทศมีชนิดน้ำมันเพียง 2-3 ชนิดแต่ไทยมีถึง 9 ชนิด ก็เป็นต้นทุนสำหรับผู้ค้า” นายอรรถพลกล่าว