ภาครัฐและภาคเอกชน นำโดย บี.กริม ผนึกความร่วมมือกับ โรงแรมพิมาลัย รีสอร์ท แอนด์ สปา และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา สานต่อโครงการ “รักษ์ลันตา” ร่วมรณรงค์ไม่ทิ้งขยะพร้อมปลูกจิตสำนึกชาวบ้านเกาะลันตา จ.กระบี่ หวังช่วยลดปริมาณขยะได้มากถึง 80% เผยเคล็ดลับคัดแยกขยะเพื่อการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้สัตว์ทะเลหลายชนิดต้องตายไป คือปริมาณขยะที่พบในท้องทะเลไทย โดยเฉพาะปริมาณถุงพลาสติกที่มีมากถึง 11.7% ทุกภาคส่วนจึงเริ่มตระหนักและต้องการที่จะช่วยลดปริมาณขยะในทะเล จนเกิดโครงการ “รักษ์ลันตา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการประชารัฐร่วมใจจัดการขยะทะเลในแหล่งท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ลต. 1 (เกาะรอก) จังหวัดกระบี่ จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 15 โดยความร่วมมือระหว่าง บี.กริม โรงแรมพิมาลัย รีสอร์ท แอนด์ สปา และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
นายอนุรัต ตียาภรณ์ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของโรงแรมพิมาลัยฯ กล่าวว่า ได้ร่วมโครงการรักษ์ลันตา เมื่อ 15 ปีก่อน โดยมี บี.กริม ให้การสนับสนุนด้านทุนทรัพย์มาโดยตลอด โครงการแรกเริ่มจากการปล่อยปลาการ์ตูนคืนกลับสู่ธรรมชาติ เพื่อปลูกจิตสำนึกให้คนในเกาะและชาวบ้านไม่ไปจับปลา สู่การบริหารจัดการขยะและการคัดแยกขยะโดยเริ่มนำร่องจากในโรงแรมพิมาลัยฯ ก่อน แล้วค่อยส่งวิทยากรไปอบรมให้เด็ก ๆ ใน 15 โรงเรียนทั้งชั้นประถมและมัธยม จากนั้นจึงขยายสู่ชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านได้รู้จักการคัดแยกขยะซึ่งเป็นวิธีบริหารจัดการขยะได้ดีที่สุด ทำให้ชุมชนบนเกาะลันตามีการบริหารจัดการขยะได้ดีขึ้น
รวมทั้งยังรณรงค์การงดใช้ถุงพลาสติกและนำขยะบางจำพวกมาใช้ใหม่ ตลอดจนการเก็บขยะบริเวณชายหาด เพราะปัญหาหลักใหญ่ ๆ คือขยะจากเมืองมักจะหลุดรอดสู่ทะเลมากถึง 90% ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ใต้ท้องทะเลเป็นอย่างมาก ทำให้แต่ละปีมีสัตว์ทะเลจำนวนมากที่ตายจากการกินขยะเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังได้ทำโครงการเก็บขยะในทะเลซึ่งได้ผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวและนักประดาน้ำทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพ มาช่วยเก็บขยะใต้ทะเลเป็นจำนวนมาก
“เราปลูกจิตสำนึกให้ชาวบ้านตระหนักถึงเรื่องการคัดแยกขยะมาตลอด 15 ปี แต่สิ่งที่ช่วยเรามากคือการนำขยะไปทำปุ๋ย จึงเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทุกปี เช่น ปริมาณขยะในทะเลบริเวณอุทยานแห่งชาติเกาะ 5 ลดลงไปมาก และยังได้เร่งเก็บขยะก่อนเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวซึ่งมีการเปิดเกาะวันที่ 15 ตุลาคมนี้ เพื่อธรรมชาติที่สวยงาม พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไม่น้อยกว่า 5,000 คนต่อปี” นายอนุรัตกล่าว
ขณะที่ ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม กล่าวว่า บี.กริม ให้ความสำคัญกับกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหามลภาวะอันเนื่องมาจากขยะและของเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคการเกษตร โดยยอมรับว่า ขณะนี้ปัญหาขยะทะเล เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยและของโลก โดยไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากที่สุด และจากข้อมูลสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ชัดว่าส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก ดังนั้น กิจกรรมเก็บขยะใต้ทะเลของเกาะลันตา รวมถึงการให้ความรู้กับนักเรียนและชุมชนถึงความสำคัญและความจำเป็นในการแยกขยะและการกำจัดขยะอย่างถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ด้าน นายอาสัน เสื้อชาติ กำนันตำบลเกาะลันตาใหญ่ เล่าถึงแนวทางการบริหารจัดการขยะบนบก เมื่อเก็บขยะบนเกาะแล้วต้องทำการคัดแยกให้เป็นหมวดหมู่ เช่น พลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ก็แยกแล้วนำไปขาย บางส่วนที่เป็นขยะเคมีหรืออื่น ๆ ก็ต้องลำเลียงขึ้นฝั่งเพื่อการกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป
“ที่ผ่านมา มีการรณรงค์ไม่ใช้พลาสติกบนเกาะ และพยายามสอนเด็ก ๆ ให้นำกล่องนม พลาสติกมาทำกระเป๋าหรือของใช้อื่น ๆ ซึ่งทำต่อเนื่องมาหลายปี และคาดหวังว่าปีนี้ทุกคนจะช่วยกันลดขยะให้ได้ 80% ทุกภาคส่วน และมีขยะเหลือเพียง 20% เท่านั้นที่จะต้องนำไปฝังกลบซึ่งมีพื้นที่ที่จำกัดบนเกาะ” นายอาสันกล่าว
ขณะที่ นายกรรณเกษม มีสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา กล่าวว่า กิจกรรมเก็บขยะในทะเลในปีแรก ๆ มีปริมาณมากถึง 5 ตัน และทางอุทยานฯ รณรงค์ให้นักท่องเที่ยวไม่นำขนมขบเคี้ยว งดนำพลาสติก และให้นำแก้วน้ำมาใช้บนเกาะ หากนำขยะมาก็ให้นำกลับคืนสู่ฝั่งด้วย รวมถึงการปลูกฝังให้ชาวบ้านในชุมชนมีความรู้เรื่องการบริหารจัดการขยะโดยวิธีที่ถูกต้อง ซึ่งปัญหาหลักของขยะบนอุทยานฯ คือขวดพลาสติก หลอดพลาสติก โฟม ไฟแช็ค แปรงสีฟัน และคอตตอนบัด รวมทั้งขยะที่พบในทะเลทั้งจากในประเทศไทยเองและถูกพัดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เป็นต้น
สำหรับผลการจัดกิจกรรมเก็บขยะทั้งบนบกและในทะเลครั้งนี้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 จุด คือ อ่าวมะขาม, อ่าวทะลุ, หาดแหลมสน, อ่าวม่านไทร และหาดศาลเจ้า สามารถเก็บขยะได้ 9 ประเภท ได้แก่ ขยะทั่วไป 1,030 กิโลกรัม, ขยะอันตราย 35.26 กิโลกรัม, ขวดแก้ว 514 กิโลกรัม, โฟม 414 กิโลกรัม, ทุ่น 34.6 กิโลกรัม, ขวดพลาสติก 830 กิโลกรัม, รองเท้า 131 กิโลกรัม, เชือก 945 กิโลกรัม และอุปกรณ์ประมง 7.9 กิโลกรัม รวมขยะทั้งหมดประมาณ 3,944 กิโลกรัม โดยปีนี้ (62) พบขยะที่เก็บได้ในทะเลมีปริมาณลดลง นับเป็นความสำเร็จของการรณรงค์อย่างมาก