“สนธิรัตน์”ย้ำ มีเวลา 180วันเจรจาหาข้อยุติเชฟรอนเรื่องรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม

634
- Advertisment-

รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ย้ำประเด็น เชฟรอนระงับฟ้องอนุญาโตตุลาการ เกี่ยวกับการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณเป็นเรื่องใหญ่และเป็นผลงานสำคัญของกระทรวงพลังงานโดยมีระยะเวลา หาข้อยุติ 180 วัน หรือภายใน มี.ค. 2563  หลังจากนั้น อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะทำหนังสือถึงผู้ได้รับสัมปทานวางหลักประกันการรื้อถอนอีกครั้ง ภายใน 120 วัน  เชื่อมีข้อยุติที่ดีร่วมกันทั้งสองฝ่าย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานพบปะสื่อมวลชน สายพลังงานเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2562 ถึงประเด็นที่ โฆษกเชฟรอน ที่สหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ เกี่ยวกับ การระงับการฟ้องอนุญาโตตุลาการ เรื่องค่ารื้อถอนแท่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ หลังสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565 เมื่อต้นเดือน ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา  ว่าถือเป็นเรื่องใหญ่และเป็นผลงานที่น่าชื่นชมของกระทรวงพลังงาน ที่นำโดย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเจรจา โดยมองว่า การที่ข่าวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลกผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์  จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย และ
เป็นสัญญาณที่ดีต่อการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณที่จะมีความต่อเนื่อง

การเจรจาให้เชฟรอน ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระงับการฟ้องอนุญาโตตุลาการ ได้ ถือว่ากระทรวงพลังงานได้ทำงานอย่างหนักเพื่อให้ทุกฝ่ายกลับมาเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันอีกครั้ง โดยหลังจากนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะมีเวลา 180 วัน พิจารณาข้อเสนอค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมหลังจากผู้รับสัมปทานเดิมยื่นข้อเสนอเข้ามา     ซึ่งเชื่อว่าจะได้ข้อยุติที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

- Advertisment -

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการปิโตรเลียม และหัวหน้าทีมทำงาน เกี่ยวกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการ กล่าวว่า  การรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกช ในอ่าวไทย เป็นไปตามกฎกระทรวง เรื่องกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมพ.ศ. 2559  ภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยการเจรจาเพื่อหาข้อยุติ จะมีระยะเวลา 180 วัน หรือประมาณภายในเดือนมี.ค. 2563

โดยหลังจากนั้น อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะทำหนังสือถึงผู้ได้รับสัมปทานให้มาวางหลักประกันการรื้อถอนอีกครั้ง ภายใน 120 วัน แต่หากขั้นตอนดังกล่าวยังไม่สามารถตกลงกันได้อีก จึงจะเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการต่อไป อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่า ในการพิจารณาข้อมูลรอบใหม่จะสามารถตกลงเป็นที่ยอมรับซึ่งกันและกันได้

ทั้งนี้ ภาครัฐพร้อมรับฟังข้อมูล บนพื้นฐานหลักการของกฎหมาย ที่ผู้ได้รับสัมปทานจะต้องรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม บนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม หลังหมดสัญญากับภาครัฐ ส่วนวงเงินค้ำประกันจะเป็นเท่าไรนั้น จะมากหรือน้อยกว่าวงเงินเดิมที่กว่า 1 แสนล้านบาทหรือไม่นั้น ต้องมาคุยกันในรายละเอียดอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการพิจารณาค่าใช้จ่ายรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกช ในอ่าวไทยนั้น ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าการดำเนินการจะไม่กระทบต่อการส่งมอบพื้นที่ให้รายใหม่ คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ที่จะเข้ามาดำเนินกิจการหลังหมดอายุสัมปทานในปี 2565-2566

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้มีการส่งข้อมูลใหม่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรื้อแท่น และการวางเงินเป็นค่าหลักประกันการรื้อถอนแท่นผลิตที่แหล่งเอราวัณมีอยู่กว่า 200 แท่น วงเงิน 7.5 หมื่นล้านบาท ส่วนของแหล่งบงกชจะมีอยู่กว่า 100 แท่น คิดเป็นมูลค่าหลักประกัน 3 หมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า ก่อนหน้านี้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ทำหนังสือถึงผู้ได้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณและบงกช เมื่อวันที่13 มิ.ย.2562 เพื่อให้วางหลักประกันการรื้อถอนแท่นเต็มจำนวนภายใน 120 วัน หรือครบกำหนด 11 ต.ค.2562 มูลค่ารวมทั้ง 2 แหล่งกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ทางเชฟรอนและผู้ถือหุ้นหลักในแหล่งเอราวัณ ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่าควรวางหลักประกันเฉพาะแท่นที่รื้อถอนจริงๆเท่านั้น ส่วนแท่นที่ผู้ชนะประมูลคือ PTTEP และพันธมิตรจะนำไปใช้งานได้ต่อ ก็ไม่ควรวางหลักประกันเต็มจำนวน ดังนั้นเมื่อได้ข้อมูลใหม่ ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะต้องเร่งสรุปว่าแท่นใดจะใช้งานได้ต่อภายในสิ้นปี 2562 นี้หรือต้นปี 2563 เพื่อจะได้กำหนดเรื่องการวางหลักประกันการรื้อถอนต่อไป

Advertisment