รัฐมนตรีพลังงานส่งสัญญาณ อีก 5 ปี ไทยจะเปลี่ยนผ่านการใช้รถยนต์น้ำมัน สู่ยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมเตรียมมาตรการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางรถEV และแบตเตอรี่ในภูมิภาค
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภาครัฐจะมีการเปิดตัวแคมเปญส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า(EV)ทั้งระบบ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมความพร้อม หลังจากพบว่า การใช้รถยนต์ไฮบริด และมอเตอร์ไฟฟ้า จากทั่วโลกเติบโตอย่างมีนัยสำคัญราว 20% ต่อปี ขณะที่อินโดนีเซียและเวียดนาม ได้มีการประกาศมาตรการส่งเสริมรถยนต์EV อย่างจริงจังแล้ว ดังนั้นประเทศไทยควรที่จะมีเป้าหมายชัดเจนในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ในภูมิภาค
ทั้งนี้กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างหารือร่วมกับหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง ภาคเอกชนและค่ายรถยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อระดมข้อมูลต่างๆจัดทำเป็นแพ็คเกจส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ใน 3 เทคโนโลยี คือ 1.รถปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งเป็นรถที่ใช้ดีเซลผสมกับแบตเตอรี่ 2.รถยนต์ไฟฟ้า(EV) หรือรถที่ใช้แบตเตอรี่ 100% และ3.รถFuel Cell หรือ รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า แคมเปญEV และแบตเตอรี่ ที่ออกมาจะต้องมีแรงจูงใจให้กับผู้บริโภคที่จะเข้าถึงการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการผลิตรถไฟฟ้าด้วย รวมทั้งต้องมีความพร้อมในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้า ธุรกิจเช่าแบตเตอรี่ เป็นต้น ซึ่งในส่วนของแรงจูงใจต่างๆนั้น จะต้องมีมาตรการทางด้านภาษี และสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจาก บีโอไอ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยคาดว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าจะใช้เวลาภายใน 5 ปี (ปี2563-2567) อีกทั้ง การพัฒนาไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า จะนำไปสู่การปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี2561-2580 (PDP2018)เพื่อเตรียมความพร้อมด้านกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศที่จะมารองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังเตรียมออกมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่แพร่กระจายในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยในสิ้นเดือน ต.ค.2562 นี้ กระทรวงพลังงานจะออกแคมเปญกระตุ้นการใช้น้ำมันดีเซล B10 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 10% ในทุกลิตร) ซึ่งเมื่อมีหัวจ่าย ดีเซล B10 ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี2563ครบทุกปั๊มทั่วประเทศแล้ว เชื่อว่าปริมาณการใช้จะเพิ่มเป็น 30-40ล้านลิตรต่อวัน ใกล้เคียงเป้าหมาย 57 ล้านลิตร
ขณะที่การส่งเสริมน้ำมันดีเซลB20 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 20% ในทุกลิตร) จะยังเป็นทางเลือกสำหรับรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ต่อไป แม้ว่าจะปรับลดอัตราการชดเชยลงถูกกว่าB7(น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 7% ในทุกลิตร) ลงเหลือ 3 บาทต่อลิตรก็ตาม