ปตท.-สานพลัง ขยายพื้นที่จัดหาเมล็ดกาแฟจากชุมชน

665
- Advertisment-

บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การซื้อขายเมล็ดกาแฟกะลา ภายใต้กระบวนการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ” กับ 8 ชุมชนผู้ปลูกกาแฟ จังหวัดเชียงราย ต่อยอดความสำเร็จ “Community Coffee Sourcing : โครงการจัดหาเมล็ดกาแฟจากชุมชน ภายใต้กระบวนการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ”

วันที่ 27 ก.ย. 2561 นายกฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายชฎิล ชวนะลิขิกร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นางสาวนิตยา  ธำรงราชนิติ ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจคาเฟ่อเมซอน  บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) นางอัจฉริยา เจริญศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ว่าที่ร้อยตรี กรกฎ ประเสริฐวงศ์ นายอำเภอแม่ฟ้าหลวง นายธนพงศ์ชัยวิชญ์ ศรีเจริญ และ นายกิติ จุ่งดิลก ผู้ประสานงาน โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริฯ  ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การซื้อขายเมล็ดกาแฟกะลา ภายใต้กระบวนการปลูกและ การผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ” ส่วนขยายไปยังพื้นที่ใหม่ จังหวัดเชียงราย

นายกฤษณ์ กล่าวว่า Community Coffee Sourcing เป็นอีกหนึ่งในโครงการวิสาหกิจชุมชนของ บริษัท สานพลังฯ ที่สร้างคุณค่าให้สังคม ด้วยการส่งเสริมกระบวนการปลูกและการผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ ภายใต้ระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรให้เกิดความเข้มแข็ง แบ่งปันความรู้ภายในชุมชน และรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาของชุมชมในระบบราคาที่เป็นธรรม (Fair Trade) เพื่อสร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยบริษัทสานพลังฯ จะนำเมล็ดกาแฟกะลามาแปรรูปเป็นกาแฟสารและส่งเป็นวัตถุดิบให้ที่โรงคั่วกาแฟของคาเฟ่อเมซอน โครงการฯ ดังกล่าว ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจาก 2 ชุมชนแรกที่เข้าร่วมโครงการฯ  จึงนำมาสู่การขยายพื้นที่ และลงนามข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน ในวงกว้างมากขึ้น

- Advertisment -

นางสาวนิตยา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความสำเร็จของร้านคาเฟ่อเมซอน ที่มีมากกว่า 2,300 สาขาทั่วประเทศ มีความต้องการเมล็ดกาแฟสารซึ่งเป็นวัตถุดิบมากกว่า 3,000 ตัน ต่อปี และมีความต้องการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 20 ในวันนี้ จึงสามารถเป็นช่องทางรับซื้อเมล็ดกาแฟที่แน่นอนให้กับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ รวมถึง การนำองค์ความรู้ของคาเฟ่อเมซอน มาถ่ายทอดสู่ชุมชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเองของชุมชน และเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งนับเป็นการร่วมสร้างประโยชน์แก่สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม

ปัจจุบัน มีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้วจำนวน 10 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนแรกเริ่มที่เข้าร่วมโครงการ ในปี 2560 จำนวน 2 ชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกาแฟปางขอน และ วิสาหกิจชุมชนกาแฟอาข่าปางขอน ในตำบลห้วยชมภู อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และชุมชนจากการขยายพื้นที่โครงการในปี 2561 อีกจำนวน 8 ชุมชน ประกอบด้วย 4 ชุมชน ในตำบลแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ได้แก่ บ้านห้วยหยวกป่าโซ บ้านห้วยหมาก บ้านสามสูง และ บ้านอาโต่ และอีก 4 ชุมชน ในตำบลห้วยชมภู อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ได้แก่ วิสาหกิจกาแฟยอดดอยปางขอน วิสาหกิจปางขอนคอฟฟี่ฟาร์ม และ 2 ชุมชนบ้านผาลั้ง ซึ่งรายได้จากการดำเนินโครงการฯ จะนำไปเป็นกองทุนในการพัฒนาอาชีพ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ปลูกกาแฟไทยต่อไป นายกฤษณ์ฯ กล่าว

Advertisment