IEEE PES เปิดเวทีถก “กลไกการจัดหาพลังงานไฟฟ้าสะอาดและการเปิดให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม” เสนอรัฐกำหนดนโยบายให้ Win-Win กับทุกฝ่าย

138
- Advertisment-


IEEE PES จัดสัมมนา “กลไกการจัดหาพลังงานไฟฟ้าสะอาดและการเปิดให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม ( Clean Energy Supply Mechanisms and Third Party Access ) ภายในงาน PES Day 2025 มีหลายประเด็นที่รัฐซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายควรพิจารณาหาทางออกแบบ Win-Win กับทุกฝ่ายและให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม 

สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) (IEEE PES – Thailand) จัดงาน PES Day 2025 ขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา โดยไฮไลท์ของงานคือการสัมมนาที่มีผู้ทรงคุณวุฒิในวงการไฟฟ้าร่วมเป็นวิทยากร ประกอบด้วย นายธวัชชัย พัฒนพิพิธไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์กร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดร.สมชาย ทรงศิริ ผู้ช่วยผู้ว่าการวางแผนและวิศวกรรม(วางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)นายอำพล สงวนวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจพลังไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง (MEA)  นางสาวมรรษพร กรรณสูต หัวหน้าส่วนงานระดับ 11 ฝ่ายนวัตกรรมและพัฒนาการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน  รองศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย ชัยทัศนีย์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.แนบบุญ หุนเจริญ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ  และนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง ในฐานะนายกสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง ในฐานะนายกสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) ประธานกล่าวเปิดการสัมมนา

โดยสรุปประเด็นเนื้อหาที่น่าสนใจจากการสัมมนา ดังนี้ ดร.สมชาย ทรงศิริ ผู้ช่วยผู้ว่าการวางแผนและวิศวกรรม(วางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ตั้งโจทย์ใหญ่ให้ทุกฝ่ายช่วยกันระดมความคิดว่า “ ความต้องการของผู้ใช้พลังงานสะอาดคืออะไร ? โดยระบุว่าหากตีโจทย์ดังกล่าวไม่แตก นโยบายพลังงานสะอาดของประเทศจะขับเคลื่อนต่อไปได้ยาก

- Advertisment -
ดร.สมชาย ทรงศิริ ผู้ช่วยผู้ว่าการวางแผนและวิศวกรรม(วางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)

ซึ่งมีการนำเสนอข้อมูลว่า นโยบายไฟฟ้าสีเขียว หรือ UGT 1 ที่กำหนดโควต้าไว้ 2,000 ล้านหน่วย ไม่ได้มีผู้แสดงความสนใจมากอย่างที่คิด โดยมีเพียงปริมาณ 400 ล้านหน่วย และในปริมาณดังกล่าว ผู้ยื่นขอมากที่สุดเป็นสถาบันการเงินที่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่จากญี่ปุ่นกว่า 190 ล้านหน่วย ไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรม  แสดงให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมไม่ได้ต้องการไฟฟ้าสีเขียวเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการไฟฟ้าสีเขียวที่มีราคาถูกด้วย 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมมีการลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟบนหลังคา ซึ่งมีบริษัทเอกชนเป็นผู้ให้บริการ หรือที่เรียกว่า Private PPA ที่เสนอให้ราคาค่าไฟถูกกว่าค่าไฟที่เคยจ่าย ถึง 20-25%  เพราะใช้ประโยชน์จากส่วนต่างโครงสร้างค่าไฟฟ้าแบบ TOU Rate ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ใช้มานานไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

ทั้งนี้อัตราค่าไฟแบบ TOU จะแบ่งเป็นช่วงpeak (9.00น.-22.00 น) อัตราค่าไฟสูง และช่วง off peak (22.00น  -9.00น )ที่อัตราค่าไฟจะถูก  ซึ่งเมื่ออุตสาหกรรมติดตั้งไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ซึ่งผลิตไฟในช่วงกลางวัน ก็จะไปช่วยลดค่าไฟฟ้าในช่วงกลางวันที่มีราคาแพงเพราะบวกรวมต้นทุนส่วนที่เป็น demand charge เข้าไปด้วย ทำให้ลดรายจ่ายค่าไฟลงได้ค่อนข้างมาก ในขณะที่ช่วงกลางคืนที่ โซลาร์เซลล์ไม่ผลิตไฟ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ก็กลับไปใช้ไฟจากระบบ ในอัตราที่ถูกลง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมได้ใช้ทั้งพลังงานสะอาดและราคาที่ถูกกว่าอัตราปกติที่เคยจ่าย   ดังนั้น หากอัตรา UGT 1 มีราคาที่แพงกว่าก็จะไม่จูงใจกลุ่มอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ในมุมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมถือว่าได้ประโยชน์ แต่ในภาพรวมถือว่าประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนเสียประโยชน์ เพราะโครงสร้างของกิจการไฟฟ้าของประเทศ ถูกออกแบบให้ กฟผ.เป็นผู้สร้างโรงไฟฟ้าและรับซื้อไฟฟ้า และจัดส่งไฟฟ้ามายังระบบจำหน่าย ผ่านระบบสายส่งและสายจำหน่ายเพื่อส่งไปให้ผู้บริโภค โดยต้นทุนที่ลงทุนไป จะได้กลับคืนในรูปของ demand charge ที่อยู่ในค่าไฟฟ้า  ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีการติดตั้งโซลาร์รูฟบนหลังคากันมากๆ  ส่วนที่เป็น demand charge ก็จะลดลงจึงกระทบกับรีเทิร์นของการไฟฟ้า 

“ ผู้บริโภคมีทางเลือกอื่นที่ทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง ด้วยการทำ peak saving ซึ่งได้รับประโยชน์ และเมื่อมีคนได้ก็ต้องมีคนเสีย  ยกตัวอย่าง PEA มีทรัพย์สินที่ลงทุนไปแล้วเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนในต่างจังหวัด 4 แสนกว่าล้านบาท  ถ้าวันหนึ่งไม่มีคนมาใช้ระบบสายส่งที่ลงทุนไปแและรื้อทิ้งไม่ได้  ถามว่าใครจะต้องจ่ายกับสิ่งที่รัฐลงทุนไปแล้ว คำตอบคือประชาชนทุกคนจะต้องช่วยกันจ่าย “ ดร.สมชาย ชี้ให้เห็นประเด็นปัญหา

นายอำพล สงวนวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจพลังไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง (MEA)

ในขณะที่ นายอำพล สงวนวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจพลังไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง (MEA) บอกว่าในกลไกการจัดหาพลังงานไฟฟ้าสะอาดและการเปิดให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สามนั้น MEA มีความพร้อมสนับสนุน นโยบายภาครัฐ

และสนับสนุน consumer ที่มีความประสงศ์จะเป็น Prosumer โดยเตรียมลงทุนโครงข่ายระบบสายส่งที่เป็น smart grid ที่รองรับความผันผวนจากพลังงานหมุนเวียนที่ส่วนใหญ่มาจากโซลาร์เซลล์

นายธวัชชัย พัฒนพิพิธไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์กร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

นายธวัชชัย พัฒนพิพิธไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์กร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ยังมาจากก๊าซธรรมชาติถึงประมาณร้อยละ50 และในก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิต กว่าร้อยละ40 คือLNG นำเข้า ดังนั้นการปรับขึ้นลงของราคาLNG จึงค่อนข้างส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟ 

โดยนายธวัชชัย เห็นสอดคล้องกับ PEA ว่าในโครงสร้างค่าไฟ TOU ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2543 นั้นทำให้ผู้ที่ติดตั้งโซลาร์บนหลังคาได้ประโยชน์ แบบโชค 3 ชั้น คือได้ลดค่าใช้จ่ายในส่วน demand charges ที่บวกรวมต้นทุนการลงทุนระบบสายส่งในตอนกลางวัน 

ไม่ต้องมีต้นทุนเชื้อเพลิง หรือ หรือ energy charge และตอนกลางคืนได้ใช้ไฟจากระบบในราคาที่ถูกกว่าอัตราที่เรียกเก็บกับกลุ่มทั่วไปที่ไม่ได้ใช้ระบบ TOU ดังนั้นรัฐควรจะต้องส่งสัญญาณในการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าหรือ pricing signal ที่ต้องมองทั้งระบบ 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ากลไกการจัดหาพลังงานไฟฟ้าสะอาดจะเป็นอย่างไร แต่รัฐยังควรต้องดูแลผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน 

มรรษพร กรรณสูต หัวหน้าส่วนงานระดับ 11 ฝ่ายนวัตกรรมและพัฒนาการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

นางสาวมรรษพร กรรณสูต หัวหน้าส่วนงานระดับ 11 ฝ่ายนวัตกรรมและพัฒนาการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวนำเสนอว่าโครงสร้างกิจการไฟฟ้าที่ใช้กันมานาน รัฐควรจะต้องมีเจ้าภาพมาระดมความคิดเห็นกันว่าควรจะเดินไปในทิศทางที่จะรองรับพลังงานสะอาดที่จะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ที่ในแผนงานซึ่งเป็นนโยบายออกมาแล้วมีทั้งเรื่อง UGT1 UGT2 โครงการนำร่อง Direct PPA และ Third Party Access 

โดยบทบาทของ กกพ.นั้นเป็นเหมือนกรรมการที่กำกับกฏ ออกกฏ ไม่ใช่ผู้ที่ลงไปเล่น สั่งได้เฉพาะผู้ที่ไม่ทำตามกฏกติกา ควบคู่ไปกับการคุ้มครองดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าที่ในอนาคตจะมีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้การจัดหาพลังงานสะอาด เกิดความมั่นคงทางพลังงาน (security) ยืนยันแหล่งผลิตได้ (traceability ) และผู้บริโภคสามารถจ่ายได้ (affordability)

รองศาสตราจารย์ ดร.แนบบุญ หุนเจริญ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รองศาสตราจารย์ ดร.แนบบุญ หุนเจริญ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ  ร่วมนำเสนอประเด็นด้วยว่า อยากให้ช่วยกันระดมความคิดที่จะทำให้กลไกการจัดหาพลังงานไฟฟ้าสะอาดและการเปิดให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม เป็นไปแบบWin-Win กับทุกฝ่าย ซึ่งไม่เข้าใจว่าเหตุใด นโยบาย Direct PPA ที่กำหนดปริมาณไว้ 2,000 เมกะวัตต์ จึงกันไว้ให้เฉพาะกลุ่ม Data Center ทั้งๆที่กลุ่มสถาบันการเงิน  กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์  ก็ต้องการ  Direct PPA  ควรจะช่วยกันคิดด้วยว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรจาก Data Center  ที่ใช้ไฟเปลือง ทำไมจึงต้องให้สิทธิประโยชน์พิเศษเฉพาะกับกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ 

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย ชัยทัศนีย์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 รองศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย ชัยทัศนีย์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวยกตัวอย่างในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นว่า นโยบายไฟฟ้าสีเขียว เปรียบเสมือน โต๊ะจีน 1 โต๊ะ มีคน 10 คน ค่าโต๊ะ 1,000 บาท หารเฉลี่ยคนละ 100 บาท คนที่อยากใช้ไฟฟ้าสีเขียว ก็เหมือนคนที่ลุกออกจากโต๊ะ ไปกินอาหารที่อื่น หากลุกออกไป 1 คนก็ทำให้ โต๊ะจีนเหลือจำนวน 9 คนแต่ค่าอาหารยังเท่าเดิม จึงต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ยิ่งคนลุกออกไปเยอะ คนที่ยังอยู่ก็ยิ่งหารกันแพงขึ้น  ทางออกที่จะทำให้เกิดกรณีที่เรียกว่า Win -Win  คือคนที่ลุกออกจากโต๊ะจีน เป็นคนที่ไปสร้างรายได้เพิ่ม และนำรายได้มาช่วยหารกับคนในโต๊ะ  ซึ่งกรณี ไฟฟ้าสีเขียว ที่จะมารองรับกลุ่ม Data Center ก็ต้องเปรียบเทียบให้เห็นว่า ประโยชน์ที่ประเทศจะได้จากการลงทุน หรือมีรายได้จากการส่งออกสินค้าที่ผลิตด้วยไฟฟ้าสีเขียว มากกว่าต้นทุนค่าไฟที่ประชาชนต้องช่วยกันจ่ายเพิ่มขึ้น

Advertisment