สำนักงาน กกพ.เตรียมลงนามMOUกระทรวงพลังงาน เพื่ออนุมัติงบ 50ล้านบาทให้คณะกรรมการSEA

402
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)​เห็นชอบให้ สำนักงาน กกพ. ลงนามMOUกับกระทรวงพลังงาน  เพื่อเป็นช่องทางให้สามารถอนุมัติเงิน 50 ล้านบาทจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ให้กับคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อม ระดับยุทธศาสตร์ (SEA)นำไปว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษา ความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ โดยคาดว่าจะสามารถลงนามได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล  กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)​และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2561 มีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU)​ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กับกระทรวงพลังงาน เพื่อให้คณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อม ระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สามารถขอใช้เงิน 50 ล้านบาทจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าได้

โดยคาดว่าจะสามารถลงนามMOUได้ภายใน1-2  สัปดาห์จากนี้  ทั้งนี้ที่ประชุม กกพ. เห็นว่าการอนุมัติวงเงินดังกล่าวไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า  เพราะเข้าข่ายมาตรา97(5) ที่เปิดช่องให้ใช้จ่ายเงินจากกองทุน เพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า

- Advertisment -

ทั้งนี้ วงเงินที่สามารถใช้จ่ายได้ตามมาตร97(5) ในปี 2561 นั้นยังมีเหลืออยู่ 410ล้านบาท  ซึ่งที่ผ่านมา กกพ.ได้เปิดให้ยื่นขอใช้งบดังกล่าวแล้ว แต่ยังมีเงินเหลือเพียงพอสำหรับโครงการของ SEA จึงได้พิจารณาอนุมัติเพิ่มเติม คาดว่าหลังMOUแล้วจะสามารถนำเงินไปใช้ได้ต่อไป

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า สำหรับคณะกรรมการ SEA นั้นจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2561 เพื่อศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ ซึ่งรวมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนางสาวนันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน และนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานร่วมกัน

โดย SEA กำหนดวงเงินสำหรับการว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการตาม ข้อกำหนดการศึกษา(TOR) เอาไว้ 50 ล้านบาท  ภายในกรอบระยะเวลาการศึกษาต้องเสร็จใน 9 เดือนนับจากวันที่ลงนามจ้างที่ปรึกษา แต่ภายในระยะเวลา 5 เดือนจะต้องได้ความชัดเจนว่าภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ถ้ามีควรจะสร้างที่ไหนจึงจะเหมาะสม และถ้าไม่ควรมี ควรจะมีพลังงานจากแหล่งใดมาทดแทนเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

Advertisment