โครงการ PPP Plastic (Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management) ของพันธมิตรหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนเพื่อการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ของการดำเนินการแล้วในปี2562 นี้ ซึ่งมีหลักหมุดสำคัญคือสามารถจัดทำแผนปฏิบัติการการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 หรือ roadmap การจัดการขยะพลาสติก โดยมีเป้าหมายนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% ในปี 2570 และขยายความร่วมมือสู่ 36 องค์กร จากจุดเริ่มต้น 15 องค์กร
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พันธมิตร PPP Plastic ได้ดำเนินโครงการนำร่องเพื่อการจัดการพลาสติกที่ยั่งยืนในพื้นที่เป้าหมายที่จัดทำเป็นโมเดลการจัดการขยะพลาสติก 2 แห่ง คือ 1. โมเดลเมือง ที่เขตคลองเตย กรุงเทพฯ และ 2. โมเดลจังหวัด ที่ระยอง โดยพื้นที่ระยอง นับว่าเป็นโมเดลที่ชัดเจนที่สุด จึงปักหมุดให้ระยองเป็นพื้นที่เป้าหมายในการนำร่องกำจัดขยะพลาสติกอย่างครบวงจร เนื่องจากมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิลขยะพลาสติก และยังอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเกิดการขยายตัวของเมืองอีกมากในอนาคต รวมทั้งยังมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และภาครัฐที่เข้มแข็งมีความพร้อมในการดำเนินงาน จึงเหมาะสมที่จะเป็นจังหวัดเริ่มต้นในโครงการนี้
โดยพันธมิตร PPP Plastic ตั้งเป้าหมายสำหรับ “ระยองโมเดล” จะนำขยะพลาสติกมารีไซเคิลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ภายใน 5 ปีนี้ และสร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อเดือน และภายในปี 2565 “ระยอง” จะไม่มีการฝังกลบขยะพลาสติก
ในการผลักดันระยองโมเดลนั้น ภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของบริษัท ดาว ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ร่วมก่อตั้ง Thailand PPP Plastic อธิบายว่า กลุ่ม PPP Plastic นำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาสร้างโมเดลที่เป็นรูปธรรมในการนำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำหรือใช้ใหม่ได้หลายครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อให้พลาสติกสามารถรีไซเคิลได้ 100% ส่วนคนใช้หรือผู้บริโภคต้องรู้จักวิธีการทิ้งอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันการหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม และต้องมีผู้คัดแยกเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทำให้เกิดธุรกิจรับซื้อพลาสติกใช้แล้วนำกลับมาผลิตใหม่ จนเกิดเป็นวงจร (Value Chain) การจัดการขยะที่เป็นระบบ
“ระยองเป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว (Sensitive Area) ที่หลายฝ่ายต้องการเห็นแนวทางในการจัดการขยะพลาสติก และยังเป็นจังหวัดที่องค์กรพันธมิตรมีการดำเนินกิจการอยู่ เป็นจังหวัดที่มีรายได้ทั้งทางด้านเกษตรกรรม ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน มีบุคคลากรที่สามารถขับเคลื่อนโมเดลการจัดการขยะพลาสติกให้เกิดขึ้นได้ และน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหัวหน้าชุมชนต่าง ๆ มีความเข้มแข็งและมีความพร้อมที่จะทำโมเดลนี้ร่วมกับภาคเอกชน” ภรณีกล่าว
ระยองเป็นเมืองอุตสาหกรรมและเมืองท่องเที่ยว จึงมีประชากรหรือแรงงานแฝงที่เคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่อาศัยจำนวนมาก และก่อให้เกิดปัญหาขยะตามมา อย่างไรก็ตาม ระยองมีเครื่องมือและความพร้อมสำหรับการจัดการขยะที่เชื่อมโยงกันเป็นระบบ ตั้งแต่ชุมชนต้นแบบในการคัดแยกขยะ นำไปส่งให้กับโรงงานธุรกิจรีไซเคิล (Recycling Plant) และการกำจัดขยะทั่วไป โดยส่งไปกำจัดรวมที่ศูนย์กำจัดขยะครบวงจรของทางอบจ.ระยอง ในการทำ RDF และนำไปสู่การทำโรงงานไฟฟ้าจาก RDF ในอนาคต ซึ่งทำให้เกิดรูปแบบธุรกิจเล็ก ๆ ขึ้นในระดับชุมชน (Business Model) ตั้งแต่ผู้เก็บ ผู้รวบรวม ผู้คัดแยก กระทั่งถึงผู้นำไปรีไซเคิล หรือหลอมเม็ดพลาสติก และการกำจัดขยะอย่างครบวงจร
ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มโครงการจัดการขยะพลาสติกภายใต้ระยองโมเดลเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง และเทศบาลจำนวน 18 แห่ง (275 ชุมชน) จากจำนวนเทศบาลทั้งหมด 67 แห่งในจังหวัดระยอง โดยภาคเอกชนได้เข้าไปรณรงค์ให้ความรู้ให้กับครัวเรือนในการคัดแยกขยะพลาสติกที่สะอาด เพื่อส่งต่อไปยังชุมชนและเทศบาลนำไปจัดการอย่างถูกต้อง ไปจนถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มตลอด Value Chain นอกจากนี้ ทางเทศบาลยังได้กำหนดดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ภายใต้แคมเปญ 1 เทศบาล 1 ชุมชนต้นแบบ เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบที่มีความสามารถในการคัดแยกขยะจนเกิดเป็นรายได้ ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 27 ชุมชนต้นแบบในจังหวัดระยอง เพื่อเกิดเป็นต้นแบบที่ขยายวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งยังขับเคลื่อนอีกหลายโครงการ เช่น อำเภอสะอาด ตำบลสะอาด โรงเรียนสะอาด เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการขยะที่สูงถึงปีละ 328 ล้านบาท ช่วยลดภาระงบประมาณของภาครัฐลงอีกทาง
ปราณี ภู่แพร ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)หนึ่งในเอกชนสมาชิก PPP Plastic กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการคือภายใน 5 ปี (61-65) ทุกเทศบาลของจังหวัดระยองจะเข้าร่วมโครงการทั้งหมด ทำให้ขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบรีไซเคิลให้มากที่สุด และเข้าสู่ระบบการจัดการขยะโดยโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2563 ทำให้ภายในปี 2565 จ.ระยอง จะไม่มีขยะพลาสติกไปที่หลุมฝังกลบ ทั้งนี้ ปัจจุบัน จังหวัดระยองผลิตขยะปริมาณเกือบ 30,000 ตันต่อเดือน ส่วนใหญ่กว่า 50% เป็นขยะอินทรีย์ และอีก 30% หรือประมาณ 9,000 ตัน เป็นขยะพลาสติก ในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติกสะอาดเฉพาะใน 18 เทศบาล และ 1 อบจ. เพียง 40-45 ตันต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งจะต้องถูกกำจัดอย่างถูกวิธีทั้งหมด
“ปัจจุบันขยะทั่วไปจากทุกเทศบาลในจังหวัดระยองจะเข้ามาที่ศูนย์บริหารจัดการขยะครบวงจร ของอบจ.ระยอง เป็นจุดสุดท้ายของการจัดการขยะทั้งหมด ซึ่งภายในปี 2563 จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และจะมีโรงคัดแยกแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าที่เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐ คือ อบจ.ระยอง กับภาคเอกชนคือ GPSC และโรงไฟฟ้าชีวมวลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนกันยายนนี้” ปราณี กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายนำขยะพลาสติกไปรีไซเคิลให้ได้ไม่ต่ำกว่า 10% ของปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมดที่มีอยู่ 9,000 ตันต่อเดือน หรือคัดแยกพลาสติกมารีไซเคิลได้ไม่ต่ำกว่า 900 ตันต่อเดือน ช่วยลดต้นทุนในการกำจัดขยะและสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยหากคำนวณจากราคารับซื้อขยะพลาสติกเฉลี่ยที่ 10 บาท จะทำให้ชุมชนมีรายได้ประมาณ 9 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือชุมชนเอื้ออาทรวังหว้าที่มีประชากรกว่า 500 หลังคาเรือน แต่มีระบบการบริหารจัดการขยะในชุมชนที่มีประสิทธิภาพสามารถสร้างรายได้กว่า 10,000 บาทต่อเดือน ที่นำกลับมาสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชน เช่น โครงการ WIFI ฟรี การให้เงินทุนการศึกษา เป็นต้น
ณัฐพงศ์ จิรวัฒนาวรกุล ผู้จัดการแผนกสื่อสารองค์กรและกิจการสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย อธิบายว่า
“หน้าที่หลักของทีม PPP คือทำอย่างไรให้ชุมชนสมัครใจเรียนรู้เรื่องการคัดแยกขยะ โดยมีโปรแกรมการรณรงค์และเชื่อมโยง Value Chain ทั้งโรงคัดแยก โรงหล่อ หรือเข้าสู่กระบวนการ Upcycling เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติก โดยจะดำเนินการต่อเนื่องตลอด 5 ปีนี้ กระทั่งเห็นว่ามีการคัดแยกขยะทุกชุมชน ทุกเทศบาล ในจังหวัดระยอง และไม่มีขยะที่นำไปฝังกลบ (Zero to Landfill) จนในที่สุดคือมีขยะในทะเลลดลงครึ่งหนึ่ง จากปัจจุบันพบว่ามีขยะพลาสติกในทะเลไทยทั้งหมดราว 10,000-30,000 ตัน”
สำหรับแนวทางดำเนินโครงการ PPP Plastic ในปีแรกประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ 1. สร้างเครือข่ายชุมชน เชื่อมโยงแหล่งผู้รับซื้อขยะพลาสติกแต่ละพื้นที่ รวบรวมข้อมูลในแต่ละชุมชน เทศบาลอย่างละเอียด 2. วางแผนให้ความรู้กับผู้นำเทศบาล ชุมชน ชาวบ้าน และนักเรียนในพื้นที่เป้าหมายในการคัดแยกขยะพลาสติกอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะพลาสติก 3. ประสานงานระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานรัฐ เช่น อบจ. เทศบาล เพื่อทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และ 4. ขยายผลสู่เยาวชน โดยให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะพลาสติกอย่างถูกต้องตั้งแต่ในโรงเรียน เพื่อขยายผลสู่คนในครอบครัว
ส่วนการดำเนินงานในปีที่ 2 จะขยายผลสู่โรงเรียนในพื้นที่ ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ในจังหวัดระยอง ร่วมรณรงค์การคัดแยกขยะพลาสติก ชักจูงผู้ค้าในห้างฯ ให้คัดแยกขยะพลาสติกออกจากขยะอินทรีย์ก่อนทิ้ง เพื่อช่วยลดต้นทุนในการกำจัดขยะ ส่วนในปีที่ 3 ทีม PPP จะขยายผลสู่กลุ่มโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้คัดแยกและจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี
ด้าน ปาณฑรา สุธีระวงศา ผู้ช่วยผู้จัดการกิจการเพื่อสังคม ธุรกิจ เคมิคอลส์ เอสซีจี อีกหนึ่งสมาชิกภาคเอกชนของ PPP Plastic กล่าวเสริมว่า งานสำคัญของโครงการ PPP Plastic ก็คือการคัดแยกขยะสะอาดออกจากขยะที่ปนเปื้อน และสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพในระดับชุมชนได้ด้วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่จะมีงานคัดแยกขยะเพราะไม่ต้องใช้ทักษะสูง นอกจากสร้างรายได้เดือนละประมาณ 2,000-3,000 บาท ยังสร้างคุณค่าในตัวเองให้แก่ผู้สูงอายุด้วย อย่างไรก็ตาม แต่ละเทศบาลจะออกแบบรูปแบบการจัดการขยะที่เหมาะสมกับชุมชนของตัวเอง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่อสร้างความยั่งยืน
ทีม PPP Plastic จะเข้าไปให้ความรู้ในระดับโรงเรียน ซึ่งเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงขยะเข้าสู่ระบบรีไซเคิล โดยการสอนเด็กนักเรียนให้รู้จักการคัดแยกขยะเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากระดับเด็กสู่ครัวเรือน โดยจะนำร่องใน 18 โรงเรียนที่มีความพร้อมก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกโรงเรียนที่มีความเหมาะสม” ปาณฑรา กล่าว
ประมวลดูแล้ว ต้องยอมรับว่าการขับเคลื่อน “ระยองโมเดล” ของกลุ่ม PPP Plastic ในหนึ่งปีที่ผ่านมามีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ และด้วยความร่วมมือที่เข้มแข็งและแน่นแฟ้นระหว่างพันธมิตรซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งของความก้าวหน้าของโครงการฯ จึงเชื่อว่าในปีที่ 2 นี้ กลุ่ม PPP Plastic จะสามารถผลักดันระยองโมเดลให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายได้