บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ตั้งงบลงทุนปี 2568 กว่า 2 แสนล้านบาท จากงบลงทุน 5 ปี ( 2568-2572) วงเงิน 33,587 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เน้นเพิ่มกำลังการผลิตปิโตรเลียมในโครงการปัจจุบันเพื่อสนับสนุนความมั่นคงพลังงานไทย เช่น แหล่งเอราวัณ บงกช ในอ่าวไทย และแหล่งซอติก้าในเมียนมา พร้อมตั้งเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมปี 2568 แตะระดับ 500-510 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน คาดราคาน้ำมันดิบปี 2568 ทรงตัวระดับ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
นายเสริมศักดิ์ สัจจะวรรณกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการเงิน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือPTTEP (ปตท.สผ.) เปิดเผยในงาน Oppday year-end 2024 PTTEP วันที่ 24 ก.พ.2568 ว่า บริษัทฯ ยังเดินหน้าการดำเนินงานตามแผนลงทุน 5 ปี (ปี 2568 – 2572) ที่ได้จัดสรรไว้ โดยมีรายจ่ายรวม (Total Expenditure) 33,587 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน 21,249 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และรายจ่ายดำเนินการ 12,338 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อีกทั้งยังได้สำรองงบประมาณ 5 ปี (2568-2572) เพิ่มเติมจากงบประมาณข้างต้นอีกจำนวน 1,747 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อรองรับการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานลมนอกชายฝั่ง ธุรกิจดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS as a Service) ธุรกิจเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และการลงทุนในธุรกิจและเทคโนโลยีผ่านบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานในรูปแบบ Corporate Venture Capital (CVC) ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมขององค์กรในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำในอนาคต
ขณะที่ปี 2568 ตั้งงบประมาณลงทุนรวม อยู่ที่ 7,819 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (261,940 ล้านบาท) ประกอบด้วยรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure) จำนวน 5,299 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure) จำนวน 2,520 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
โดยให้ความสำคัญกับแผนงานหลัก ดังนี้ 1.การเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมจากโครงการปัจจุบัน โครงการผลิตหลักที่สำคัญเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย ได้แก่ โครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ) โครงการจี 2/61 (แหล่ง บงกช) โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 โครงการคอนแทร็ค 4 โครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และโครงการซอติก้า และโครงการยาดานาในประเทศเมียนมา ที่มีการนำก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้เข้ามาใช้ในประเทศไทย รวมทั้งโครงการผลิตหลักในต่างประเทศ เช่น โครงการในประเทศมาเลเซีย และประเทศโอมาน โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนจำนวน 3,676 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีแผนงานสำหรับกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยครอบคลุม Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง และ Scope 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ (Operational Control) พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายระหว่างทาง (Interim Target) ในการลดปริมาณความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission Intensity) จากปีฐาน 2563 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 30% และ 50% ภายในปี 2573 และ 2583 ตามลำดับ โดยได้ตั้งงบประมาณสำหรับกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2568 ทั้งสิ้นจำนวน 77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
2.เร่งผลักดันโครงการหลักที่อยู่ในระยะพัฒนา (Development Phase) ได้แก่ โครงการสัมปทาน กาชา โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 โครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 และโครงการพัฒนาในประเทศมาเลเซีย เช่น โครงการมาเลเซีย เอสเค 405 บี โครงการมาเลเซีย เอสเค 417 และโครงการมาเลเซีย เอสเค 438 เป็นต้น ให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผนงาน โดยจัดสรรรายจ่ายลงทุนเป็นจำนวนเงิน 1,464 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
3.เร่งดำเนินการสำรวจในโครงการปัจจุบันโครงการที่อยู่ในระยะสำรวจ โครงการในระยะพัฒนา รวมถึงโครงการที่ดำเนินการผลิตแล้วรองรับการเติบโตในระยะยาว โดยจัดสรรรายจ่ายลงทุน จำนวน 127 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการเจาะหลุมสำรวจและประเมินผลของโครงการในประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย และประเทศเมียนมา
นอกจากนี้ บริษัทฯ คาดการณ์แนวโน้มการลงทุนในปี 2568 ว่าจะมีปริมาณการขายปิโตรเลียม เฉลี่ยอยู่ที่ 500,000-510,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีปริมาณการขายฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 488,794 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เนื่องจากจะรับรู้กำลังผลิตเต็มปี จากโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) เฉลี่ยอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติ ทั้งปี 2568 จะอยู่ที่ 5.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ลดลงเล็กน้อยจากปี 2567 และมีต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) เฉลี่ยอยู่ที่ 29-30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และ EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 70-75%
โดยในปี 2568 ปตท.สผ.ประเมินว่าความต้องการใช้น้ำมันดิบของโลกจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวลง ซึ่งความต้องการใช้ (ดีมานด์) หลักยังมาจากจีนและอินเดีย ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปยังทรงตัว ทำให้คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปี 2568 จะทรงตัว อยู่ในกรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง ทั้งอิหร่าน-อิสราเอล และรัสเซีย-ยูเครน ,นโยบายโอเปกพลัส ที่ยังคงลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยล่าสุดมีมาตรการสมัครใจลดกำลังผลิตไปจนถึงเดือน มี.ค. 2568 นี้ ซึ่งต้องติดตามดูว่าหลังจากนั้นจะมีมาตรการอย่างไรต่อไป ,นโยบายของนอนโอเปกพลัส ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบอย่างไร ตลอดจนนโยบายของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เช่น การตั้งกำแพงภาษีจะมีผลกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันในระยะยาวอย่างไร
ส่วนราคา LNG Spot คาดว่า จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12-15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู จากปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 11.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ตามความต้องการใช้ LNG ในจีนและอินเดียที่เพิ่มขึ้น
“ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ถ้ามีผลกระทบต่อ ปตท.สผ.จะส่งผ่านมายังราคาน้ำมัน ซึ่งในพอร์ตลงทุนของบริษัท เป็นก๊าซฯสัดส่วน 70% และน้ำมัน 30% ฉะนั้นถ้าจะกระทบก็กระทบประมาณ 30% โดยบริหารความเสี่ยงในหลายๆ ด้าน รวมถึงการทำประกันความเสี่ยงด้านราคาไว้ด้วย ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบไม่ต่ำกว่า 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ก็มั่นใจว่า บริษัทฯ จะรักษาผลการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”