ผลพวง“พีระพันธุ์”เบรกโครงการจ้างขุดถ่านหินแม่เมาะ กระทบค่าไฟงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.68

196
- Advertisment-

ค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 68 มีแนวโน้มต้นทุนเพิ่มขึ้นจากผลพวงการสั่งเบรกโครงการประมูลจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8 /1 ที่ทำให้ต้องผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง LNG นำเข้าที่มีต้นทุนสูงกว่าทดแทน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center -ENC ) รายงานว่า ผลพวงจากกรณีที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีหนังสือสั่งด่วนที่สุดให้ กฟผ.ระงับการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง สัญญาที่ 8/1 โดยวิธีพิเศษในวงเงินงบประมาณ 7,250 ล้านบาท จนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วเสร็จ ซึ่งเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้างวดเดือน พฤษภาคม -สิงหาคม  2568 เนื่องจากไม่มีปริมาณถ่านหินลิกไนต์ส่วนที่จะต้องขุดเพิ่มขึ้นมาป้อนโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ทำให้ กฟผ.ต้องลดกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะลงประมาณ 300 เมกะวัตต์ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2568 เป็นต้นไป 

กำลังการผลิตที่หายไปจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำ จะถูกทดแทนด้วยโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวนำเข้า หรือ LNG  ที่มีต้นทุนสูงกว่าพอสมควร โดยมีการประเมินเบื้องต้นว่าจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าประมาณ 8 สตางค์ต่อหน่วย 

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนถึงปัจจุบัน การดำเนินการจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ จะเดินหน้าต่ออย่างไร เนื่องจากกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่นายพีระพันธุ์ ลงนามแต่งตั้ง พลตำรวจโท เรวัช กลิ่นเกษร เป็นประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้มีหน้าที่และอำนาจ ตรวจสอบและสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นมาและการดำเนิน การจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหิน เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1 ทุกขั้นตอน โดยมีระยะเวลา 45 วัน นั้นยังไม่ได้ข้อสรุป 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า  ทาง กฟผ.จะมีการแจ้งรายงานปัญหาดังกล่าว ให้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)รับทราบภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 นี้ โดย กกพ.จะมีการนัดประชุมเพื่อกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนพฤษภาคม -สิงหาคม  2568  และนำเสนอเป็นทางเลือกเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้ไฟฟ้า ตามขั้นตอนในเดือนมีนาคม ซึ่งตามข้อเท็จจริงนั้น ทั้ง 3 ทางเลือกล้วนเป็นแนวทางที่จะต้องปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากอัตราเฉลี่ยรวม 4.15 บาทต่อหน่วย โดยมีปัจจัยจากต้นทุนราคา LNG ที่เพิ่มขึ้น และภาระค้างจ่ายต้นทุนเชื้อเพลิงของ กฟผ.และ ปตท.รวมประมาณ 95,000 ล้านบาท ยังไม่นับรวมปัจจัยที่มาจาก การลดกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่เกิดจากการสั่งระงับโครงการประมูลจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8 /1

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงแนวทางที่ นายพีระพันธุ์ เตรียมพิจารณาปรับพอร์ต Pool Gas ให้เป็นสัดส่วนชัดเจน ระหว่างการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าและการนำไปใช้ในอุตสาหกรรม ที่จะทำให้ค่าไฟลดลงได้อีกถึงเกือบ 40 สตางค์ โดยจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ทันค่าไฟงวดต่อไป นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากเนื่องจากราคา LNG นำเข้าที่มีการส่งมอบเป็นรายเที่ยวเรือ หรือ Spot LNG  นั้นยังมีราคาสูงกว่าราคาเฉลี่ยใน Pool Gas ซึ่งการปรับพอร์ตดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และเชื่อว่าจะมีเสียงคัดค้านจากภาคอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน 

สำหรับแนวทางที่ กกพ.เสนอให้มีการทบทวนสัญญา SPP และ VSPP ที่ได้รับการส่งเสริมจากนโยบายให้ส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าหรือ Adder และรูปแบบ Feed-in Tariff หรือ FiT ที่จะช่วยลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าในส่วนที่รวมอยู่ในค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (Policy Expense: PE) ประมาณ 17 สตางค์ต่อหน่วย ที่นายพีระพันธุ์ ได้เรียกเลขาธิการสำนักงาน กกพ. ไปหารือ และระบุว่าไม่สามารถทำได้ เพราะจะมีปัญหาการฟ้องร้องจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่เป็นคู่สัญญากับรัฐ นั้น  ในข้อเท็จจริงสัญญาดังกล่าว เกิดมาจากมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ที่ระบุให้มีการกำหนดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับ SPPประเภท Non Firm  และ VSPP เป็นสัญญา 5 ปีและต่อเนื่องโดยอัตโนมัติ ที่ในมติ กพช.ในเวลาต่อมา เขียนระบุให้มีการแก้ไขได้  ดังนั้น เรื่องที่เป็นข้อเสนอของ กกพ.ดังกล่าวจึงสามารถดำเนินการแก้ไขได้ โดยนำเสนอที่ประชุม กพช.  เพียงแต่ขั้นตอนการยกเลิกจะต้องรอจนถึงวันครบรอบ 5 ปีตามสัญญาของผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีการต่ออายุจนครบแล้ว ไม่สามารถที่จะยกเลิกแบบทันทีทันใดได้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการแจ้งผลประกอบการของ บมจ.เอสพีซีจี หรือ SPCG ที่เป็นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ได้รับการส่งเสริมด้วยนโยบาย Adder นั้นระบุว่าโครงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท 36 แห่ง ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาได้รับ Adder ที่อัตรา 8 บาทต่อหน่วย ที่ยังมีการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้นยังคงมีศักยภาพสร้างรายได้และผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง    สะท้อนถึงข้อเสนอของ กกพ.ที่ให้ทบทวนนโยบายดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่า โครงการที่สิ้นสุดการได้รับ Adder และยังสามารถขายไฟฟ้าได้ในอัตราค่าไฟฟ้าฐาน ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย นั้นได้รับอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าต้นทุนโซลาร์เซลล์ในปัจจุบัน ที่อยู่ที่ประมาณ 2.20 บาทต่อหน่วย  หากมีการดำเนินการทบทวนสัญญาจริง จะสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค เนื่องจาก ผู้ประกอบการที่ได้รับ Adder ต่างได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่ามามากพอสมควรแล้ว 

Advertisment