กพช. ปิดเงียบมติให้ยกเลิกซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 3 สปป.ลาว ขนาด 480 เมกะวัตต์ ที่มี บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) ร่วมถือหุ้น เนื่องจากมีปัญหาด้านสินเชื่อที่นำไปใช้ในโครงการ ( Project Finance )
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center -ENC ) รายงานว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นั่งเป็นประธานการประชุม โดยได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะประธาน กพช. ให้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแทน ได้มีมติให้ยุติการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 3 ใน สปป.ลาว เนื่องจากโครงการมีปัญหาด้านสินเชื่อที่นำไปใช้ในโครงการ (Project Finance ) ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ไม่ได้มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนตามธรรมเนียมปฏิบัติเช่นที่ผ่านมา
สำหรับโครงการน้ำงึม 3 มีกลุ่มผู้พัฒนาโครงการ คือ Nam Ngum 3 Power Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนใน สปป. ลาว มีผู้ถือหุ้น ได้แก่ Chaleun Sekong Energy Co., Ltd. (CSE) สัดส่วนร้อยละ 55 บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) สัดส่วนร้อยละ 25 และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Électricité du Laos: EDL) สัดส่วนร้อยละ 20 ตั้งอยู่บนลำน้ำงึม แขวงไซยสมบูรณ์ สปป. ลาว มีกำลังผลิตติดตั้ง 480 เมกะวัตต์ (3 x 160 เมกะวัตต์) โดยมีแผนที่จะผลิตพลังงานไฟฟ้าและจำหน่ายให้ กฟผ. ณ จุดส่งมอบชายแดนไทย – ลาว จำนวน 468.78 เมกะวัตต์ คิดเป็นพลังงานไฟฟ้า 2,083 ล้านหน่วยต่อปี โดยเชื่อมโยงมาฝั่งไทยที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงอุดรธานี 3
ทั้งนี้โครงการดังกล่าว ทาง กพช. ได้เคยมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 และวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ในอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการน้ำงึม 3 และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว ซึ่งเมื่อโครงการน้ำงึม 3 จัดทำ Full Due Diligence แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 กฟผ. จึงลงนาม Tariff MOU กับผู้พัฒนาโครงการเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565
โดยในการประชุม กพช. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ได้มีการรับทราบร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือ PPA ของโครงการน้ำงึม 3 ที่มีสาระสำคัญส่วนหนึ่งระบุถึงอายุสัญญาของโครงการ 27 ปี นับจากวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ซึ่งในร่างสัญญากำหนดวันจัดหาเงินกู้ (Scheduled Financial Close Date: SFCD) คือ วันที่ช้ากว่าระหว่าง 6 เดือน นับจากวันลงนาม หากจัดหาเงินกู้ล่าช้ากว่า SFCD ต้องจ่ายค่าปรับให้ กฟผ. ในอัตรา 2,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน กำหนดวันจัดหาเงินกู้แบบ Project Finance (Scheduled Project Finance Achievement Date: SPFAD) คือ ภายใน 24 เดือน นับจากวันลงนามสัญญา หากจัดหาเงินกู้ล่าช้ากว่า SPFAD ต้องจ่ายค่าปรับให้ กฟผ. ในอัตรา 2,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน กำหนดวันจ่ายไฟฟ้า (Scheduled Energization Date: SED) คือ ภายใน 5 เดือน นับจากวันเริ่มงานก่อสร้าง (EGAT Construction Obligation Commencement Date: ECOCD) และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตามสัญญา (Scheduled Commercial Operation Date: SCOD) คือ ภายในวันที่ช้ากว่าระหว่าง 36 เดือน นับจากวัน ECOCD หรือวันที่ 1 มกราคม 2569 ทั้งนี้ หากงานก่อสร้างล่าช้าฝ่ายที่ทำให้เกิดความล่าช้าจะต้องจ่ายค่าปรับ (Liquidated Damages: LD) แต่หากเกิดจากเหตุสุดวิสัย (Force Majeure: FM) ฝ่ายที่อ้างเหตุจะต้องจ่ายค่า Force Majeure Offset Amount (FMOA) โดยจะได้รับคืนภายหลัง ซึ่งแตกต่างจาก LD ที่ไม่มีการจ่ายคืน
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุม กพช.เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 กระทรวงพลังงานได้จัดทำเอกสารข่าวเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนเฉพาะประเด็นที่ กพช.สั่งชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับปี 2565 – 2573 ปริมาณรวม 3,668.5 เมกะวัตต์ เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง
โดยผลจากการยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการน้ำงึม 3 ทำให้ทาง สปป.ลาว จะต้องนำเสนอโครงการที่จะขายกระแสไฟฟ้าให้กับไทย เพื่อทดแทนโครงการที่ถูกยกเลิกไป เนื่องจากมีกรอบการรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและ สปป. ลาว จำนวน 10,500 เมกะวัตต์ ซึ่งทาง สปป.ลาวยังมีโครงการที่จะเสนอเข้ามาได้อีกประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ ตามข้อตกลง