เมื่อการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกอุตสาหกรรม เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาโลกเดือดเป็นภัยคุกคามระดับโลก ที่ทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไข อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าถือเป็นต้นกำเนิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ คิดเป็นราว 30% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมไฟฟ้าไปสู่การใช้พลังงานที่สะอาดขึ้น จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่จะผลักดันให้โลกมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่รายแรกของประเทศไทย อย่าง บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในทุกพื้นที่ที่ดำเนินกิจการรวม 8 ประเทศ ทั้งในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยความเชื่อขององค์กรที่ว่า “ต้นทางที่ดี จะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี” –โดยมุ่งเน้นการควบคุมและลดผลกระทบเชิงลบจากกิจการและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับการตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งธุรกิจของ EGCO Group เป็นธุรกิจต้นทางที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า
EGCO Group ได้กำหนดเป้าหมายและแนวทางมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำไว้ 3 ระยะ ได้แก่ เป้าหมายระยะสั้น คือการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ลง 10% ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ด้วยการปรับปรุงโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนหรือแอมโมเนียมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้า (Hydrogen or Ammonia co-firing) ควบคู่กับการลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก
ส่วนเป้าหมายระยะกลาง มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2040 (พ.ศ. 2583) ผ่านการลงทุนในพลังงานสีเขียวและพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง และเป้าหมายระยะยาว คือการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) จากการปรับปรุง Portfolio ให้เป็นพลังงานสะอาด 100%
อย่างไรก็ตาม การที่โลกจะเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวได้อย่างเต็มตัวต้องอาศัยเวลา ความพร้อมของเทคโนโลยี และต้นทุนที่เหมาะสม ในระหว่างนี้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติจึงยังมีความจำเป็น เพราะเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าและรักษาเสถียรภาพด้านราคาค่าไฟฟ้า ควบคู่กับการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero
ปัจจุบัน EGCO Group ได้เดินหน้าปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงหลัก (conventional) ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และลดการปล่อย CO2 ลง ดังตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การปรับปรุงเครื่องกังหันก๊าซของโรงไฟฟ้า Linden Cogeneration หน่วยที่ 6 ในสหรัฐอเมริกา ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว ให้สามารถใช้ก๊าซที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงกลั่นที่มีไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบแล้วนำมาผสมในสัดส่วน 40% เพื่อเป็นเชื้อเพลิงร่วมกับก๊าซธรรมชาติที่ใช้อยู่เดิม ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมของโรงไฟฟ้า และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 โดยรวมลงประมาณ 10%
การศึกษาความเป็นไปได้เชิงเทคนิคในการนำแอมโมเนีย (Ammonia co-firing) มาเป็นเชื้อเพลิงผสมในโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี จ.ระยอง ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อลดการปล่อย CO2 จากกระบวนผลิตไฟฟ้าสู่ชั้นบรรยากาศ โดยยังคงประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าไว้ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีได้ดำเนินการศึกษาตามกรอบการศึกษาของโรงไฟฟ้าเฮกินัน (Hekinan) ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ติดกับทะเลเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี จากผลการศึกษาพบว่า เมื่อนำแอมโมเนีย 20% ไปผสมในการเผาไหม้ จะสามารถช่วยลดการปล่อย CO2 ได้สูงสุดประมาณ 20% ในลำดับต่อไป โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีก็จะพัฒนาไปสู่ขั้นตอนของการทดลอง (Demonstration) โดยจะเริ่มทดลองผสมแอมโมเนียในการเผาไหม้ที่ 5%
การศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage – CCS) และเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage – CCUS) ในโรงไฟฟ้า 3 แห่งที่ EGCO Group เข้าไปลงทุน ได้แก่ โรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี จ.ระยอง และโรงไฟฟ้าพาจู ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษา
การศึกษาและแสวงหาโอกาสการลงทุนในเทคโนโลยีไฮโดรเจนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ผ่านโรงไฟฟ้าโบโค รอค วินด์ฟาร์ม (Boco Rock Windfarm) ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่มีศักยภาพในการผลิตไฮโดรเจน โดยโครงการความร่วมมือกับพันธมิตรในการศึกษาและแสวงหาโอกาสการลงทุนในเทคโนโลยีไฮโดรเจนเป็นหนึ่งในแนวทางที่บริษัทมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ขณะนี้โครงการฯ อยู่ในช่วงศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้โรงไฟฟ้าพลังงานลมในออสเตรเลียเป็นแหล่งพลังงานสะอาดสำหรับการผลิตไฮโดรเจน
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน EGCO Group ได้ลงทุนผ่าน APEX ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีโมเดลธุรกิจที่ “เป็นโอกาสและกุญแจสำคัญ” ที่จะผลักดันให้ EGCO Group บรรลุเป้าหมายการเพิ่ม RE เป็น 30% ในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ. 2573) โดย APEX มีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าจาก RE กว่า 56,000 เมกะวัตต์ จนถึงตอนนี้พัฒนาได้ราว 2,000 เมกะวัตต์ นอกจากนั้น ยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนในประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยที่มีความต้องการเพิ่ม RE ใน Portfolio อีกด้วย
ตัวอย่างการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมที่กล่าวมานี้ เป็นแนวทางของ EGCO Group ที่กำลังพาองค์กรขับเคลื่อนไปสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำและการบรรลุเป้าหมายระยะสั้น นั่นคือการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจาก RE เป็น 30% และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ลง 10% ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)