ย้อนหลังไปในอดีตกว่า 60 ปีที่แล้ว ที่ประเทศไทย คนไทยยังไม่มีองค์ความรู้เรื่องอุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างมืออาชีพมาก่อน แต่ด้วยนโยบายด้านปิโตรเลียม ภายใต้ระบบสัมปทาน ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ของภาครัฐที่จูงใจบรรดาบริษัทน้ำมันข้ามชาติ (International Oil Companies หรือ IOC) เช่น เชลล์, เอ็กซอน, บีพีออยล์,โททาล และ ยูเนี่ยนออยล์ ให้เข้ามาลองเสี่ยงทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และวางรากฐานการพัฒนาบุคลากร ช่วยให้ไทยพัฒนาตัวเองจนในที่สุดก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นโอเปอเรเตอร์ในแหล่งปิโตรเลียมด้วยตนเองได้ มีบุคลากรตั้งแต่ระดับช่างฝีมือจนถึงระดับผู้บริหารในอุตสาหกรรมที่เป็นคนไทย รัฐมีรายได้ทางตรงจากค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม อีกทั้งสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้เติบโตจนถึงวันนี้ ซึ่งการที่บริษัทไทยมีความสามารถนั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดีและภาคภูมิใจในฐานะคนไทยด้วยกันเอง แต่ก็เริ่มมีประเด็นคำถามต่อภาครัฐถึงการผูกขาด และบทบาทของนักลงทุนต่างประเทศ ที่ยังมีการลงทุนเหลืออยู่ในประเทศไทย? และถ้ารัฐยังคงต้องการให้เกิดการแข่งขันแบบเสรี มีผู้เล่นระดับอินเตอร์ให้อยู่ในประเทศเพื่อสร้าง การแข่งขัน การพัฒนา ความเชื่อมั่นและสร้างบรรยากาศการลงทุน เพราะยังคงเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำการสำรวจปิโตรเลียมอยู่อีกพอสมควร จึงนำมาสู่คำถามที่ว่ารัฐควรต้องเพิ่มแรงจูงใจให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติในอุตสาหกรรมนี้อย่างไร
ระหว่างทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศ IOC บางรายที่ได้สิทธิสัมปทาน เช่น เชลล์ บีพี ออยล์ นั้นถอนการลงทุนออกไปเพราะมองว่า ศักยภาพปิโตรเลียมที่สำรวจพบในไทยนั้นมีขนาดเล็กเกินไป เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่พวกเขาเข้าไปลงทุน ส่วนยูเนี่ยนออยล์ (เปลี่ยนมาเป็นยูโนแคล และเชฟรอน ในปัจจุบัน) ที่สำรวจพบปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ และโททาล ซึ่งสำรวจพบปิโตรเลียมในแหล่งบงกช และ เอ็กซอน พบปิโตรเลียมบนบกที่แหล่งน้ำพอง นั้นยังคงดำเนินธุรกิจต่อเนื่องเรื่อยมา
จนมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของ IOC ที่ลงทุนในไทย เมื่อรัฐเปลี่ยนนโยบายสำหรับแปลงสัมปทานที่หมดอายุและไม่สามารถต่ออายุได้อีก คือ เอราวัณ ของ เชฟรอน และ บงกช ของ ปตท.สผ. และโททาล โดยจัดให้มีการประมูลใหม่ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ในปี 2561 และผลการประมูลที่เชฟรอน แพ้ต่อ ปตท.สผ. ขณะที่โททาล ถอนตัวจากการประมูล ทำให้ เชฟรอน จำเป็นต้องลดการลงทุนลงโดยอัตโนมัติ สำหรับเอ็กซอน ที่เป็นเจ้าของสัมปทานบนบกในแหล่งน้ำพองนั้น ยังคงทำธุรกิจจนกว่าจะสิ้นสุดสัมปทาน แต่ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปั๊มน้ำมันนั้น ในเวลาต่อมาก็ขายให้กับ บางจาก ของไทย
ภาพจำในอดีตที่คนไทยเคยมองว่าบริษัทต่างชาติ มีบทบาทสำคัญ จึงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะบทบาทในการเป็นผู้ผลิตปิโตรเลียมอันดับหนึ่งของไทยนั้นปัจจุบันเป็นของ ปตท.สผ. ที่ชนะทั้งแหล่ง G1/61 (เอราวัณ) และ G2/61(บงกช)
มติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเห็นชอบการโอนสิทธิ์ประโยชน์ และพันธะที่ถือครองอยู่ในพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2549/71 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G12/48 ของบริษัท โททาล เอนเนอร์ยี่ส์ อีพี ไทยแลนด์ จากฝรั่งเศส ที่ถืออยู่สัดส่วน 33.33% ให้กับบริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ส่งผลให้ ปตท.สผ. กลายเป็นผู้ถือสิทธิสัมปทานในพื้นที่นี้ทั้ง 100% พร้อมทั้งยังมีการย้ายสำนักงานจากไทยไปอยู่ที่สิงคโปร์ ทำให้ IOC ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในไทย เหลือเพียงแค่ เชฟรอนในอ่าวไทย กับ เอ็กซอน ผู้รับสัมปทานบนบกแหล่งน้ำพอง ที่ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงปลายอายุสัมปทาน
เชฟรอน ปัจจุบันเหลือสัมปทานในแปลง B12/27, B8/32, G4/43, G7/50, 10A, 11A, G4/48 และ 9A ที่เป็นโอเปอเรเตอร์ ส่วนที่ถือหุ้นในสัดส่วน 16% ในแหล่งอาทิตย์ นั้นมี ปตท.สผ. เป็นโอเปอเรเตอร์ และยังมีพื้นที่แปลง G2/65 ที่อยู่ระหว่างการสำรวจขนาดพื้นที่ประมาณ 15,030 ตารางกิโลเมตร
ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2567 กลุ่มเชฟรอนฯ ผลิตก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยที่ 509 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลว 14,458 บาร์เรลต่อวัน และน้ำมันดิบ 16,571 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าในอดีตในสมัยที่เป็นโอเปอเรเตอร์แหล่งเอราวัณที่ผลิตก๊าซธรรมชาติมากถึง 1,200-1,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
สำหรับผู้เล่นในอ่าวไทยรายอื่นๆ เช่น มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น คัมปะนี ลิมิเต็ด, แวลูร่า เอ็นเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด, นอร์ธเทิร์น กัลฟ์ปิโตรเลียม พีทีอี แอลทีดี, บุษราคัม จัสมิน จำกัด, เอ็มพีจี6 (ประเทศไทย)จำกัด, พลังโสภณ จำกัด เป็นต้น จัดอยู่ในกลุ่มผู้เล่นรายย่อย เมื่อเทียบจากเม็ดเงินที่ลงทุน
ในขณะที่ ปตท.สผ. ซึ่งกลายเป็นผู้เล่นอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมนี้ ปัจจุบันมีโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่เป็นผู้ดำเนินงานจำนวน 12 โครงการ อยู่ในอ่าวไทย 7 โครงการ และบนบก 5 โครงการ โดยเป็นโครงการร่วมทุน 5 โครงการ อยู่ในอ่าวไทย 4 โครงการ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 โครงการ และยังมีในส่วนการถือหุ้น 50% ในแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) อีกด้วย
ข้อมูลจากรายงานประจำปีของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่า รายได้ของรัฐในปี 2566 ที่มาจากภาษีปิโตรเลียมและ จากค่าภาคหลวงรวมประมาณ 124,707 ล้านบาท ในขณะที่ข้อมูลจาก ปตท.สผ. ซึ่งแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2566 ที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้นำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่นๆ มีจำนวน 54,280 ล้านบาท เมื่อเทียบกันกับภาพรวมรายได้ที่รัฐจัดเก็บจากปิโตรเลียมทั้งหมดแล้ว บทบาทของ ปตท.สผ. รายเดียวมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่ง
บทบาทของ IOC ที่ลดน้อยถอยลงอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ทั้งๆ ที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและเม็ดเงินลงทุน น่าจะเป็นสัญญาณที่ส่งถึงภาครัฐโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ต้องพิจารณาถึงคำถามสำคัญที่เกริ่นไว้ข้างต้นว่าการแข่งขันในธุรกิจนี้ ยังมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทยอยู่หรือไม่? และถ้ามองว่ายังสำคัญ เพราะยังต้องการเม็ดเงินลงทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ในการพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมใหม่ๆ ที่มีศักยภาพและยังไม่ได้มีการเปิดให้สำรวจ และให้ธุรกิจนี้มีผู้เล่นที่หลากหลายและมีความสามารถ ก็ควรต้องทบทวนนโยบายหรือไม่ ว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะจูงใจให้ IOC ที่ยังอยู่ ได้มีการเพิ่มการลงทุนให้มากขึ้น หรือทำอย่างไรจึงจะดึงให้ IOC ที่ถอนการลงทุนออกไป หันกลับมาลงทุนใหม่อีกครั้ง
ทั้งนี้ในแง่บวก การที่รัฐยังมีผู้เล่นจำนวนมากในตลาด จะช่วยทั้งในเรื่องการแข่งขันของการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย เกิดการพัฒนาทั้งกำลังคนและเทคโนโลยี รวมถึงป้องกันการผูกขาดตลาด และลดความเสี่ยง โดยการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นรอบที่ 25 หรือรอบที่ 26 นั้น หากมี IOC สนใจเข้าร่วมประมูลย่อมสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสะท้อนถึงศักยภาพของทรัพยากรปิโตรเลียมที่ประเทศไทยยังคงมีอยู่ ถ้าเปรียบเหมือนกีฬาฟุตบอล ก็เหมือนทัวร์นาเม้นท์ที่ยังมีทีมดังระดับอินเตอร์ร่วมรายการอยู่อย่างคับคั่ง จึงจะเป็นที่สนใจในสายตานานาชาติ
โดยปัจจัยที่จะช่วยดึงดูดการเข้าร่วมยื่นประมูลขอสิทธิ เช่น การมีระบบบริหารจัดการรายได้และผลประโยชน์ (fiscal regime) การเพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจด้านภาษี หรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่เหมาะสม โดยรัฐอาจต้องจัดเวทีรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้มาช่วยประกอบการตัดสินใจด้วย ปี 2568 ที่หลายฝ่ายกังวลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ก็อาจจะคลี่คลายลง ด้วยการกระตุ้นการลงทุนอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม