ปตท. เตรียมทุ่ม 3 หมื่นล้านบาทครึ่งหลังปี 2562 นี้ เพื่อเร่งลงทุนในโครงการที่มีความชัดเจนแล้ว หวังฉวยจังหวะดอกเบี้ยต่ำ-เงินบาทแข็ง สร้างความได้เปรียบ ด้านกำไร คาดปีนี้ต่ำกว่าปี 2561 ที่มีกำไร 1.2 แสนล้านบาท เหตุปัญหาสงครามการค้า ราคาน้ำมันลด และกระทบผลการดำเนินงานกลุ่มปิโตรเคมีและโรงกลั่น หวังไม่เกินไตรมาส 4 รัฐไฟเขียว 2 โครงการอีอีซี แหลมฉบัง เฟส 3 และมาบตาพุด เฟส 3
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งหลังปี 2562 นี้ กลุ่ม ปตท.จะต้องเร่งลงทุนในโครงการที่มีความชัดเจนในการตัดสินใจลงทุนแล้ว เนื่องจากเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งเอื้อต่อการเข้าไปลงทุนและเพื่อให้โครงการต่างๆเสร็จทันกับช่วงเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวใน 1-2 ปีข้างหน้า
วงเงิน 3 หมื่นล้าน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นส่วนใหญ่
โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในโครงการต่างๆ รวม 3 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับครึ่งแรกปี 2562 ที่ใช้เงินลงทุนไปแล้วประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ไม่รวมกับงบประมาณที่จะเพิ่มทุนในบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC หลังจากเข้าไปซื้อหุ้นบริษัท โกลว์ พลังงาน หรือ GLOW
สำหรับโครงการที่จะเร่งลงทุนตามแผนงาน ได้แก่ โครงการก่อสร้างคลังรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หนองแฟบ ขนาด 7.5 ล้านตัน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และการก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติก เป็นต้น
ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.ได้วางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใน 10 ปี (ปี 2563-2573) ที่วางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% ในปี 2573 ซึ่งมีแผนจะเพิ่มพอร์ตการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด (Clean Fuel) รวม 8,000 เมกะวัตต์ ทั้งจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่จะมุ่งสู่ GAS to Power และพลังงานหมุนเวียน
อีกทั้ง ยังมีแผนที่จะลดพอร์ตการลงทุนธุรกิจถ่านหินในอินโดนีเซียลง ตามเทรนด์ของโลกที่มุ่งสู่ไฟฟ้า โดยยังอยู่ระหว่างศึกษากระบวนการปรับลดการลงทุนที่เหมาะสมทั้งการนำบริษัท Sakari Resources Limited (SAR) เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย การหาพันธมิตรร่วมทุน และการขายธุรกิจออกไป ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะมีความชัดเจนเมื่อใด
คาดกำไรปี 62 ต่ำกว่าปี 61 จากปัญหาสงครามการค้าและราคาน้ำมันปรับลง
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานช่วงครึ่งหลังปี 2562 นี้ ยอมรับว่า กำไรทั้งปี 2562 นี้จะต่ำกว่าแผน และต่ำลงจากปี 2561 ที่มีกำไรอยู่ที่กว่า 1.2 แสนล้านบาท แต่จะไม่ต่ำเท่ากับปี 2558 ที่มีกำไรต่ำสุดอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากกลุ่มปตท. มีการปรับพอร์ตการลงทุนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาให้มีความสมดุลมากขึ้น เพื่อรับมือกับระดับราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นลง หรือมีสัดส่วนแต่ละธุรกิจเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20-25% ทั้งพอร์ตธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจการค้า เป็นต้น และในปี 2562 นี้จะไม่มีด้อยค่าสินทรัพย์
โดยมั่นใจว่าครึ่งหลังปี 2562 นี้ ผลการดำเนินงานจะดีกว่าครึ่งแรกของปี 2562 ที่ปตท. และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 55,250 ล้านบาท ลดลง 14,567 ล้านบาท หรือ 21% เนื่องจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ได้รับผลกระทบจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีเกือบทุกประเภทลดต่ำลง กำไรสต็อกน้ำมันที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบ รวมถึงกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลงเช่นกันจากหลักการของธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ราคาขายอ้างอิงราคาปิโตรเคมีปรับลดลง แต่ต้นทุนก๊าซฯ ปรับสูงขึ้น
หวังรัฐไฟเขียว 2 โครงการอีอีซี ไม่เกินไตรมาส 4
นายชาญศิลป์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการลงทุน 2 โครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า ยังคาดหวังว่าทั้งโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 จะได้รับการอนุมัติจากภาครัฐไม่เกินไตรมาส 4 ปีนี้ และจะสามารถเริ่มการลงทุนได้ในปี 2563 ต่อไป
ส่วนการนำบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เพื่อรองรับการขยายงานในอนาคตนั้น ยืนยันว่า ปตท. ยังมีแผนที่จะนำ OR เข้าจดทะเบียนในตลาดฯ แน่นอน แต่จะเป็นช่วงเวลาใดนั้น ยังจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจ จึงต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆด้วย ซึ่งจะหาจังหวะที่เหมาะสมต่อไป