พลังงาน เผยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้หยุดรับซื้อไฟฟ้าในโครงการโซลาร์ภาคประชาชนแล้ว หลังมีผู้สนใจแห่ร่วมโครงการเกินโควตา 90 เมกะวัตต์ หลังจากนี้ต้องรอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาขยายโควตาก่อน สำหรับในปี 2567 มีผู้สมัครร่วมโครงการกับ กฟน. และ PEA รวม 10,107 ราย รวมกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 65.72 เมกะวัตต์ โดยยอดสะสมตั้งแต่ปี 2564-2567 รวม 90 เมกะวัตต์
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้หยุดรับซื้อไฟฟ้าในโครงการโซลาร์ภาคประชาชนชั่วคราวแล้ว เนื่องจากมีผู้สนใจแห่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวกันเป็นจำนวนมากในปี 2567 จนเต็มโควตาที่เปิดรับซื้อ 90 เมกะวัตต์ โดยที่ผ่านมามีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่เดือน ม.ค.- มิ.ย. 2567 ประมาณ 100 เมกะวัตต์ แต่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิคแล้วรวม 89.8 เมกะวัตต์ และจากนั้นได้เต็มโควตาไปเมื่อประมาณเดือน ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา
ดังนั้นหลังจากนี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะต้องนำเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณาเพิ่มโควตาการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024) ต่อไป
ทั้งนี้ที่ผ่านมา กพช. ได้กำหนดโควตาเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟท็อป ในโครงการโซลาร์ภาคประชาชน จำนวนรวม 90 เมกะวัตต์ ภายในเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2564-2573
โดยล่าสุดภาพรวมการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ในปี 2567 (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ธ.ค. 2567) ทั้งในส่วนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการประมาณ 10,107 ราย รวมกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 65.72 เมกะวัตต์
แบ่งเป็นทางด้าน กฟน. มีผู้ผลิตไฟฟ้าจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ จำนวน 4,174 ราย กำลังการผลิตติดตั้งรวม 23.15 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 3,740 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 20.4198 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้มีผู้ผลิตไฟฟ้าเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้นในปี 2567 จำนวน 7,914 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 43.91 เมกะวัตต์
ส่วนทางด้าน PEA นั้น ในปี 2567 มีผู้ทำสัญญาแล้ว แต่ยังไม่ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ ( COD ) 1,559 ราย กำลังการผลิตประมาณ 8.25 เมกะวัตต์ และส่วนที่ COD แล้ว 634 ราย กำลังการผลิตประมาณ 3.56 เมกะวัตต์ โดยรวมมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 2,193 ราย คิดเป็นกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 11.81 เมกะวัตต์
ดังนั้นเมื่อนับตั้งแต่เปิดโครงการดังกล่าวในปี 2562-2567 จึงมีปริมาณกำลังผลิตติดตั้งรวมประมาณ 100.221 เมกะวัตต์ แต่หากนับเฉพาะในส่วนของ 2564-2567 ตามมติ กพช. ที่เปิดรับซื้อรวม 90 เมกะวัตต์ ก็พบว่าปริมาณรับซื้อเต็ม 90 เมกะวัตต์แล้ว ซึ่งสาเหตุที่ประชาชนแห่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวนมาก เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ประกอบกับต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์ปรับลดลง และประชาชนต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าลงทำให้หันมาติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าบนหลังคากันมากขึ้นนั่นเอง
สำหรับในช่วงเริ่มต้นโครงการฯ ปี 2562-2565 ที่เปิดรับซื้อไฟฟ้าแบบปีต่อปี พบว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการไม่ถึงเป้าหมายแม้แต่ปีเดียว โดยเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 260 เมกะวัตต์ แต่มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเพียง 9 เมกะวัตต์ ซึ่งแบ่งเป็นดังนี้
ในปี 2562 -2565 เปิดรับซื้อไฟฟ้าปีละ 100 เมกะวัตต์ แต่มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเพียง 3-4 เมกะวัตต์เท่านั้น เนื่องจากราคารับซื้อไฟฟ้าที่ 1.68 บาทต่อหน่วย ไม่จูงใจ
ต่อมาในปี 2564 จึงปรับลดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าเหลือ 50 เมกะวัตต์ และปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย แต่ก็มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อขายไฟฟ้าเพียง 3 เมกะวัตต์ เท่านั้น และในปี 2565 ได้ปรับลดเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าลงอีกครั้งเหลือ 10 เมกะวัตต์ ในราคาเดิมที่ 2.20 บาทต่อหน่วย แต่ก็มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ เพียง 1.37 เมกะวัตต์
จากนั้นในเดือน มี.ค. 2566 กกพ. ได้ปรับหลักเกณฑ์เป็นการรับซื้อระยะยาว 10 ปี (2564-2573) รวม 90 เมกะวัตต์ ซึ่งหลักเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวก็เริ่มใช้ในปี 2566 นี้ และพบว่าประชาชนให้ความสนใจมากขึ้น มีการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบรวมกว่า 10 เมกะวัตต์ จากเป้าหมาย 90 เมกะวัตต์ ใน 10 ปี และยังมีกลุ่มผู้ร่วมโครงการฯ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ (รอ COD) จำนวน 2,795 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 15.501 เมกะวัตต์ รวมเป็นปริมาณ 25.50 เมกะวัตต์
และล่าสุดในปี 2567 ณ เดือน มิ.ย. 2567 มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคิดเป็นปริมาณ 100 เมกะวัตต์ และเต็มโควตา 90 เมกะวัตต์แล้ว ( นับรวมตั้งแต่ปี 2564-2567) และต้องหยุดรับซื้อไฟฟ้าไปจนกว่าจะมีการเพิ่มโควตาใหม่อีกครั้ง