ชี้“พลังงานสะอาด”เป็นทางรอดความยั่งยืนของธุรกิจและผู้ใช้พลังงาน

554
- Advertisment-

เวทีสัมมนา “พลังงานสะอาด” ความยั่งยืน และทางรอดธุรกิจยุคใหม่ แชร์มุมมองนโยบายด้านพลังงาน แนวโน้มความท้าทาย ทางเลือก และทางรอดสำหรับธุรกิจยุคใหม่จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกและจากกลุ่ม RE 100  “พีระพันธุ์” เผยกระทรวงพลังงานเอาจริง ยกร่างกฏหมายส่งเสริมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้ครัวเรือน ส่วนผู้บริหารอินโนพาวเวอร์ ชี้ธุรกิจขนาดใหญ่ของโลกหันใช้พลังงานสะอาด 100% ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว  และผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศแนะธุรกิจสร้างเครือข่าย RE 100 ให้มากขึ้น 

ในการสัมมนาหัวข้อ“พลังงานสะอาด” ความยั่งยืน และทางรอดธุรกิจยุคใหม่ ซึ่งจัดโดย เดลินิวส์  ณ ห้องแกรนด์บอลรูม 2 โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ กรุงเทพฯ วันที่ 11 กันยายน 2567  มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานและร่วมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “รื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ความยั่งยืน” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความพยายามของกระทรวงพลังงานในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานที่จะส่งเสริมพลังงานสะอาดเพื่อให้เกิดความยั่งยืนกับทั้งผู้ประกอบการและประชาชนผู้ใช้พลังงาน โดยให้ผู้ประกอบการมีกำไรที่เหมาะสม ขณะเดียวกันประชาชนก็ได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งจะต้องหาจุดสมดุลดังกล่าวให้ได้ ในช่วงที่ตัวเขายังมีบทบาทเป็นรัฐมนตรีพลังงาน โดยใช้แนวทางการรื้อกฏหมายเดิม และร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา 2 ฉบับ ฉบับแรกเกี่ยวกับการเข้าไปกำกับดูแลราคาน้ำมันและ อีกฉบับ เป็นการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์สำหรับภาคประชาชนให้มีความคล่องตัว ซึ่งกำลังเร่งให้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏร ภายในปีนี้ 

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในงานและร่วมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “รื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ความยั่งยืน”

2 ปัจจัยสำคัญหนุนการลงทุนพลังงานสะอาดทั้งโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัวในปี 2030 

- Advertisment -

ไฮไลต์สำคัญของงานสัมมนาครั้งนี้ อยู่ที่การบรรยายของ นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งชี้ให้เห็น แนวโน้มการลงทุนในพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียวของทั้งโลกที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ข้อมูลจาก Energy Transition Investment Trends 2024 ของบลูมเบิร์กคาดว่าจากมูลค่าทั่วโลกประมาณ 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2023 จะเพิ่มเป็น 4 – 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2030 ซึ่งมาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ภาวะโลกร้อน (Global Warming) และเหตุผลทางธุรกิจ

อธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด

โดยปัจจัยแรก เป็นผลกระทบจาก Global Warming ที่ส่งผลต่อตัวเลขทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังสร้างความเสียหายให้กับโลกคิดเป็นมูลค่าราว 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา (ปี 2000 – 2019) ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกรรมที่ต้องปรับตัวตามสภาพอากาศ น้ำท่วมที่มีความถี่เพิ่มขึ้น และที่น่ากังวลประการหนึ่งคือ ประเทศไทยติดอันดับ TOP 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจาก Global Warming มากที่สุดในโลกด้วย

ส่วนปัจจัยที่สอง เป็นเหตุผลทางธุรกิจ ปัจจุบันจะเริ่มเห็นนโยบายที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องเริ่มลดปริมาณคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมที่ดำเนินการ เช่น การออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ที่ผลักดันการเก็บภาษีในผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยคาร์บอนเข้มข้น เช่น เหล็ก ซีเมนต์ และไฟฟ้าบางชนิด ที่นำเข้าไปยังสหภาพยุโรปหรือ CORSIA เริ่มออกนโยบายให้อุตสาหกรรมการบินต้องเริ่มใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นายอธิป ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน บริษัทขนาดใหญ่ เช่น Tesla, Apple ต่างมีเป้าหมายในการเข้าถึง Net Zero Emissions ทั้งห่วงโซ่การผลิตภายในปี 2030 นั่นหมายความว่า ธุรกิจที่จะเข้าร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่ๆ เหล่านี้จะต้องใช้พลังงานสะอาดทั้ง 100% ด้วย 

ดังนั้นเรื่องเหล่านี้จึงไม่ได้เป็นสิ่งที่ไกลตัวอีกต่อไป แม้ว่าธุรกิจจะไม่ได้ส่งออกไปยุโรป หรือเป็นคู่ค้ากับบริษัทที่มีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน (Sustainability) เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ซึ่งประเทศไทยก็เริ่มมีการกล่าวถึงเรื่องการจัดเก็บภาษีคาร์บอน และการเตรียมออกกฎหมาย พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประเทศไทย ซึ่งจะเริ่มมีผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจในไทยอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ในการกระตุ้นหรือผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงยุคโลกรวนนี้ยังมีอุปสรรคสำคัญที่ต้องเผชิญ กล่าวคือ ผู้ประกอบการยังมองว่าเรื่องธุรกิจพลังงานสะอาดหรือธุรกิจแบบสีเขียว (Green) ไม่ได้เป็นเรื่องหลักที่องค์กรต้องให้ความสำคัญลำดับแรกๆ เพราะธุรกิจของตนไม่ใช่ธุรกิจที่เกี่ยวกับ Green และยังมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยากที่จะดำเนินการ ที่สำคัญคือมีราคาแพงทำให้ต้นทุนธุรกิจสูงขึ้นไปอีก

“การทลายกำแพงความคิดในเรื่อง Go Green เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องเปลี่ยนผ่านให้สำเร็จ Green จะต้องถูกวางเป็นกลยุทธ์ในอนาคตขององค์กร Green จะเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายหากทำถูกทาง และที่สำคัญ Green จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและปลดล็อคข้อจำกัดการเข้าสู่ตลาดสำคัญที่มีข้อจำกัด” นายอธิปกล่าว

โทบี้ วอล์คเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายของ RE 100 จากลอนดอน สหราชอาณาจักร

ขยายโครงข่าย RE100

อีกไฮไลต์ เป็นการบรรยาย ของ นายโทบี้ วอล์คเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายของ RE 100 จากลอนดอน สหราชอาณาจักร ที่นำเสนอทฤษฎีแห่งการเปลี่ยนแปลงของ RE 100 ซึ่งเน้นความร่วมมือกันขับเคลื่อนภารกิจเร่งการเปลี่ยนแปลง การขยายสู่โครงข่าย เพื่อให้บรรลุการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยส่งเสริมนโยบายด้านการตลาดที่สำคัญ ทั้งเพิ่มการสนับสนุนความพร้อม และความสามารถในการจ่ายพลังงานหมุนเวียน โดยมีกรณีศึกษาระดับภูมิภาคเอเชียจากญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ซึ่งจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นบทเรียนเพื่อนำมาประยุกต์กับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทย

สำหรับ RE 100 เป็นโครงการเครือข่ายระดับโลกที่ริเริ่มด้านพลังงานทดแทนระดับองค์กรของ Climate Group โดยรวบรวมธุรกิจขนาดใหญ่กว่า 400 รายที่มุ่งมั่นจะใช้พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงที่เป็นพลังงานหมุนเวียน 100% ภารกิจคือการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่โครงข่ายคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2040 และเพื่อสนับสนุนภารกิจดังกล่าว กิจกรรมของกลุ่มจะเน้นส่งเสริมไปในพื้นที่ที่องค์กรยังไม่มีการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด หรือมีแต่ยังค่อนข้างน้อยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งการเข้าร่วมจะเป็นเสมือนการส่งสัญญาณความต้องการที่ชัดเจนไปยังภาครัฐของแต่ละประเทศให้ตระหนักถึงศักยภาพในการลงทุนที่เกี่ยวข้อง และพร้อมเร่งขจัดอุปสรรคด้านนโยบายเพื่อให้บริษัทต่างๆ สามารถจัดหาไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 100% ได้อย่างรวดเร็วและราคายุติธรรม โดยมีพื้นที่ในภูมิภาคที่สำคัญ อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย อินเดีย แอฟริกาใต้ และสำหรับในประเทศไทย ก็หวังจะดึงความร่วมมือจากสมาชิกทั่วโลกที่มีสาขาสำนักงานใหญ่ในประเทศไทยด้วย 

“แม้จะยังบอกไม่ได้ถึงตัวเลขการลดปริมาณคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกของสมาชิกเนื่องจากขนาดของสมาชิก และขนาดกำลังการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ตัวเลขที่อ้างอิงถึงได้คือ ขนาดความต้องการใช้ไฟฟ้ารวมของสมาชิกกว่า 400 รายมีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าต่อปีของทั้งประเทศฝรั่งเศส และใกล้เคียงกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของเยอรมนีอีกด้วย โดยมีกำลังการผลิตเกิน 550TWh (เทระวัตต์-ชั่วโมง) ต่อปี และสมาชิกให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้ 100% ภายในปี 2050 ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงแบรนด์ยักษ์ใหญ่ อย่าง Apple, Sony, Samsung Electronics, AB InBev และ Google” นายโทบี้กล่าว

ความท้าทายของธุรกิจที่จะเข้าถึงพลังงานสะอาดได้อย่างเพียงพอในประเทศ 

ในขณะที่เวทีสัมมนากลุ่ม นายไชยรพี เลี้ยงบุญเลิศชัย Head of Strategic Partnership บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด  ชี้ให้เห็นว่า การเข้าถึงพลังงานสะอาดเป็นความท้าทายของธุรกิจ ที่หากผู้ประกอบการต้องการให้ธุรกิจเติบโต ก็ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากขึ้น  ซึ่งในเทรนด์ที่จะไปสู่พลังงานสะอาดกำลังจะก้าวข้ามความสมัครใจไปสู่ภาคบังคับด้วยกฎหมายกฎระเบียบที่มากขึ้น ดังนั้นในอนาคตความต้องการด้านพลังงานสะอาดจะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การผลิตพลังงานสะอาดของไทยอาจจะไม่เพียงพอ 

อินโนพาวเวอร์ฯ จึงกำลังดำเนินโครงการ REC Aggregator ที่จะร่วมมือกับพาร์ทเนอร์พิชิตคาร์บอน เพื่อดึงศักยภาพพลังงานสะอาดมาให้ไทยมากขึ้น โดยเฉพาะบ้านเรือนที่ติดโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าใช้เอง ซึ่งยังไม่มีการคำนวณค่าลดคาร์บอนในระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศ ยกเว้นกลุ่มที่ขายไฟฟ้ากลับเข้าระบบของการไฟฟ้า ดังนั้นหากดำเนินการได้จะช่วยให้ไทยมีสิทธิ์ของพลังงานสะอาดที่เหลือใช้ในประเทศได้มากขึ้น และยังสร้างรายได้เพิ่มให้ครัวเรือน รวมถึงส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ของภาคครัวเรือนมากขึ้น ซึ่งบริษัทฯ มีพันธมิตรมาช่วยดำเนินการในเรื่องดังกล่าวด้วย

ไชยรพี เลี้ยงบุญเลิศชัย Head of Strategic Partnership บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด 

ทั้งนี้ทางบริษัทฯ ไม่ได้มุ่งเน้นการขายผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานสะอาดเพียงอย่างเดียว แต่จะเริ่มให้ลูกค้าใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพก่อนตั้งแต่ 1. ลดใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น เพื่อให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืนแข่งขันในต่างประเทศได้ 2. ต้องคำนึงถึงการผลิตพลังงานสะอาดด้วยตัวเองด้วย เพื่อลดค่าใช้จ่ายและนำไปแสดงว่าได้ใช้พลังงานสะอาดเอง 3. ถ้าต้องการซื้อพลังงานสะอาด เช่น ซื้อสิทธิ์การันตีว่าได้ใช้ไฟฟ้าสะอาดในการผลิตสินค้า และใบรับรอง บริษัทฯ ก็สามารถช่วยเหลือลูกค้าได้  และ 4. แนะนำให้ผู้ประกอบการควรรวมพลังกับพันธมิตรทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ โดยหากซัพพลายเออร์ใช้พลังงานสะอาด มีข้อมูลการลดคาร์บอนฯ  ก็จะทำให้ผู้ประกอบการมีผลการลดคาร์บอนฯ ลงไปด้วย ซึ่งเป็นผลดีต่อการจำหน่ายสินค้าในเวทีโลกต่อไป 

Advertisment