กกพ. รับฟังความเห็นโครงการ กฟผ.พัฒนาสายส่ง น่าน-แพร่-อุตรดิตถ์ วงเงินกว่า 2.6 หมื่นล้าน รองรับ 2 โรงไฟฟ้า สปป.ลาว

480
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความเห็น 10-16 ก.ย. 2567 ใน “โครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าบริเวณจังหวัด น่าน แพร่ และอุตรดิตถ์ เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการใน สปป.ลาว ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)” หรือ โครงการ NPUP วงเงินลงทุน 26,220 ล้านบาท รองรับไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง 1,400 เมกะวัตต์ กำหนดเสร็จในปี 2571 และ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง 897 เมกะวัตต์ เสร็จปี 2574

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center – ENC ) รายงานว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็น “โครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าบริเวณจังหวัด น่าน แพร่ และอุตรดิตถ์ เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการใน สปป.ลาว ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)” หรือ โครงการ NPUP  โดยจะรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ระหว่าง 10-16 ก.ย. 2567

สำหรับการดำเนินโครงการ NPUP ของ กฟผ. ดังกล่าวใช้วงเงินลงทุนรวม 26,220 ล้านบาท โดยความเป็นมาของโครงการดังกล่าวเกิดจากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบการรับซื้อไฟฟ้าจาก โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง และ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ PDP 2018 Revision 1 ในการจัดหาไฟฟ้าจากต่างประเทศ

- Advertisment -

และยังอยู่ภายใต้บันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาล สปป.ลาว ในกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 10,500 เมกะวัตต์ โดย กฟผ. ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจในการรับซื้อไฟฟ้าแล้ว และได้ทำรายงานศึกษาความเหมาะสมโครงการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติการก่อสร้างโครงการ NPUP ในวงเงินลงทุนรวม 26,220 ล้านบาท

ทั้งนี้โครงการ NPUP ของ กฟผ.นี้ จะก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าเฉพาะในฝั่งไทย แบ่งเป็น 2 ระยะ ส่วนการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าในฝั่ง สปป.ลาว เป็นหน้าที่ของผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โดยการก่อสร้างโครงการนี้เพื่อรองรับการส่งไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ใน สปป.ลาว   

สำหรับการก่อสร้างระยะที่ 1 เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบางปริมาณ 1,400 เมกะวัตต์  จะใช้วงเงินลงทุน 21,400 ล้านบาท โดยการเสริมสายส่ง 500 kv บริเวณ น่าน-เด่นชัย (เป็นการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแห่งใหม่) ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการส่งกำลังไฟฟ้าสู่ภาคกลาง เนื่องจากสายส่ง 500 kv หงสา-น่าน และ 500 kv น่าน-แม่เมาะ 3 ไม่สามารถรองรับกำลังไฟฟ้าได้และไม่สามารถเพิ่มสายส่งจาก สถานีไฟฟ้าน่าน สู่สถานีไฟฟ้าแม่เมาะ 3 ได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของชุมชน  โดยการก่อสร้างระยะที่ 1 มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2571

ส่วนระยะที่ 2 เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ปริมาณ 897 เมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุนรวม 4,820 ล้านบาท จะก่อสร้างสถานีไฟฟ้า 500 kv ท่าวังผา ที่มีการรวบรวมปริมาณกำลังไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา, โรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง และโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ปริมาณพลังไฟฟ้าสูงถึง 3,770 เมกะวัตต์  ดังนั้นการตัดสายส่ง 500 kv เชียงฮ่อน-น่าน ลงที่สถานีไฟฟ้าท่าวังผา จะช่วยเพิ่มความเสถียร ( Stability limit) สายส่ง 500 kv หงสา-น่าน รวมถึงหลีกเลี่ยงการก่อสร้างสายส่งเส้นใหม่ได้ด้วย

นอกจากนี้การก่อสร้างสถานีไฟฟ้า 500 kv ร้องกวาง ยังช่วยเพิ่ม Stability limit สายส่ง 500 kv น่าน-แม่เมาะ 3 และ 500 kv น่าน-เด่นชัย ด้วย อย่างไรก็ตามยังคงต้องนำระบบ Generator Shedding Scheme มาใช้ที่โรงไฟฟ้าหลวงพระบางและ โรงไฟฟ้าปากแบงในช่วงระยะเวลาแรก เพื่อช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านความมั่นคงในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำแทนการก่อสร้างสถานีไฟฟ้า 500 kv ท่าตะโก 2 และหลีกเลี่ยงการก่อสร้างสายส่ง 500 kv เด่นชัย-ท่าตะโก วงจร 5 และ 6 ระยะทาง 270 กิโลเมตร โดยการก่อสร้างระยะที่ 2 นี้ มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2574

Advertisment