พลังงาน เตรียมยกเลิก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ พร้อมร่างกฎหมายใหม่ครอบคลุมอำนาจกำหนดเพดานภาษีน้ำมันและใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ได้

1715
- Advertisment-

พลังงาน เตรียมยกเลิก พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 พร้อมร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาใช้แทน ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการดึงอำนาจด้านกำหนดเพดานภาษีน้ำมันกลับคืนมา เพื่อดูแลราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมพิจารณาโครงสร้างการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ชี้ปัจจุบันเรียกเก็บทั้งภาษีน้ำมัน, ภาษีท้องถิ่น, เก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและ กองทุนน้ำมันฯ รวมทั้งการใช้พืชพลังงานผสมในเนื้อน้ำมัน ล้วนส่งผลให้ราคาน้ำมันแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ย้ำต้องพิจารณาโครงสร้างราคาน้ำมันทั้งหมดใหม่ คาดร่าง พ.ร.บ.ใหม่จะเสร็จภายในปี 2567 และจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวแก้ปัญหาราคาน้ำมันในประเทศต่อไป

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมยกเลิก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 และร่าง พ.ร.บ. ใหม่ขึ้นมาใช้แทน เนื่องจากพบว่าปัจจุบันการแก้ปัญหาราคาน้ำมันมีเพียงกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาไม่สมบูรณ์แบบ และเมื่อพิจารณากฎหมายที่ผ่านมาพบว่า กระทรวงพลังงานเคยมีอำนาจใช้กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเพดานภาษีน้ำมัน และการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ สำหรับดูแลราคาน้ำมันในประเทศ  แต่ภายหลังอำนาจในการควบคุมเพดานภาษีน้ำมันถูกยกเลิกออกไป ทำให้เหลือเพียงอำนาจด้าน พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ ในการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันในประเทศเท่านั้น

ดังนั้นการร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ดังกล่าว จะต้องดึงอำนาจด้านการควบคุมเพดานภาษีน้ำมันกลับคืนมา โดย พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้จะครอบคลุมทั้งการควบคุมเพดานภาษีน้ำมันและการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ใหม่ด้วย ส่วนการพิจารณาภาษีน้ำมันที่ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ประมาณ 6.50 บาทต่อลิตร ว่าควรจะกำหนดเพดานอัตราสูงสุดที่เท่าไหร่นั้นจะต้องให้คณะกรรมการชุดใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นพิจารณาตามความเหมาะสมของสถานการณ์นั้นๆ ก่อน

- Advertisment -

ทั้งนี้คาดว่าการร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่จะแล้วเสร็จภายในปี 2567  โดยประโยชน์ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวก็คือจะช่วยให้การดูแลราคาน้ำมันในประเทศมีความเหมาะสมมากขึ้น จากปัจจุบันที่การเรียกเก็บภาษีน้ำมันมองเพียงการสร้างรายได้ให้ประเทศเท่านั้น ก็จะเปลี่ยนเป็นให้การจัดเก็บภาษีน้ำมันต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนและการเงินการคลังของประเทศควบคู่กันไปด้วย โดยเพดานภาษีน้ำมันจะต้องปรับขึ้นและลงได้ตามสถานการณ์ที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา  

นอกจากนี้ พ.ร.บ. ดังกล่าวยังจะทำให้เข้าไปดูแลในส่วนของโครงสร้างราคาน้ำมันได้ เนื่องจากปัจจุบันมีการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันในหลายส่วน เช่น เรียกเก็บภาษีน้ำมัน , ภาษีท้องถิ่น, เก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และเรียกเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ส่งผลให้ต้นทุนเนื้อน้ำมันปรับสูงขึ้นกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเมื่อเปรีบเทียบภาษีน้ำมันของไทยกับสิงคโปร์ และเวียดนาม พบว่า ไทยเรียกเก็บภาษีต่างๆ รวม 6.50 บาทต่อลิตร ส่วนสิงคโปร์ เก็บอยู่ 5.50 บาทต่อลิตรและเวียดนามเก็บอยู่ 1.70 บาทต่อลิตร

พร้อมกันนี้จะต้องพิจารณาในส่วนของการผสมไบโอดีเซลและเอทานอลในน้ำมันด้วย เนื่องจากในอดีตราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้น ดังนั้นการนำเอทานอลผสมในน้ำมันกลุ่มเบนซิน เพื่อจำหน่ายเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และการนำน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ มาผสมในน้ำมันดีเซล เป็นน้ำมันไบโอดีเซล จึงช่วยให้ได้ปริมาณน้ำมันมากขึ้นและต้นทุนถูกลง แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป เมื่อเอทานอลและปาล์มน้ำมันมีราคาแพง เมื่อถูกนำมาผสมในเนื้อน้ำมัน กลับส่งผลให้ราคาน้ำมันโดยรวมแพงขึ้นกว่าประเทศอื่น ดังนั้นจะต้องพิจารณาในส่วนนี้ประกอบในการแก้ปัญหาราคาน้ำมันในประเทศด้วย

Advertisment