“พันธมิตรพิชิตคาร์บอน” เสียงตอบรับดี อินโนพาวเวอร์ เตรียมปรับเป้าเพิ่มช่วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย วางแผนปรับลดคาร์บอน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีโลก

339
- Advertisment-

หลังจากที่ บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ประกาศตัวเป็น “Decarbonization Partner” หรือ “พันธมิตรพิชิตคาร์บอน” ที่จะใช้ ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษา วางกลยุทธ์ และบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนแบบครบวงจร สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของไทย ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความยั่งยืนในองค์กร  สอดรับกับเทรนด์โลกที่ตื่นตัวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อนได้  โดยมีเป้าหมายพันธมิตร 100 รายภายในปี 2567 นี้  ทางศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center มีโอกาสได้สัมภาษณ์ “คุณธี” อธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ “คุณแบงก์ ” ไชยรพี เลี้ยงบุญเลิศชัย Head of Strategic Partnership  ของ อินโนพาวเวอร์ เมื่อเร็วๆนี้ จึงได้ทราบความคืบหน้าว่า ผ่านไป 6 เดือนแคมเปญดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ประกอบการ โดยมีธุรกิจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกว่า 80 รายแล้ว ซึ่งใกล้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และมีแนวโน้มที่จะขยับเป้าเพิ่มขึ้นอีก

(ขวามือ)“คุณธี” อธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ (ซ้ายมือ) “คุณแบงก์ ” ไชยรพี เลี้ยงบุญเลิศชัย Head of Strategic Partnership  ของ อินโนพาวเวอร์

ทั้งคุณธี และคุณแบงก์ บอกกับทางศูนย์ข่าวพลังงาน ถึงกลยุทธ์ในการสร้างพันธมิตรคือ การไปร่วมมือกับทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. จัดโปรแกรมอบรมเพื่อสร้างให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในแต่ละรุ่นๆ ได้ตระหนักรู้ (awareness) ถึงความสำคัญและจำเป็นของธุรกิจที่ต้องมุ่งสู่เรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ carbon neutrality โดยทางอินโนพาวเวอร์ นั้นมีแพลตฟอร์ม GHG (Greenhouse Gas Report ) ให้ผู้อบรมได้ทดลองใช้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 4 เดือน เพื่อการสำรวจธุรกิจของตัวเองว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับใด  ซึ่งจะช่วยให้สามารถจัดทำรายงาน Carbon Footprint ขององค์กรได้  และหากต้องการที่จะวางแผนการลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ทางอินโนพาวเวอร์ ก็มีความพร้อมที่จะให้คำปรึกษาแบบครบวงจรได้เช่นกัน

“แพลตฟอร์ม GHG ก็เหมือนการตรวจเช็คสุขภาพ เพื่อที่จะได้รู้ข้อมูลค่าต่างๆของร่างกายว่าเป็นอย่างไรก่อน จึงจะวางแผนแก้ไขป้องกันหรือรักษาได้อย่างถูกต้อง โดยข้อมูลการปล่อยคาร์บอนในธุรกิจ ก็จะทำให้เราสามารถวางแผนได้ว่าควรจะปรับลดการปล่อยคาร์บอนลงได้อย่างไร  จึงจะยังรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ได้ และตอบโจทย์เป้าหมายความต้องการของคู่ค้า ที่จะให้ความสำคัญเรื่องๆนี้ มากขึ้นเรื่อยๆ” คุณธี เล่าอธิบายเชิงเปรียบเทียบ

- Advertisment -

สำหรับเครื่องมือที่ อินโนพาวเวอร์ จะนำไปใช้ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้ผลทันที ก็คือ Renewable Energy Certificate (REC) หรือแพลตฟอร์มสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน เพราะการใช้ไฟฟ้าจากระบบทั่วไป นั้นส่วนหนึ่งมาจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่มีการปล่อยคาร์บอน แต่การซื้อ REC ก็คือการรับรองให้ว่า ไฟฟ้าที่ธุรกิจนั้นๆ ใช้ เป็นไฟฟ้าที่อยู่ในส่วนของพลังงานหมุนเวียน ซึ่งทั้งเรื่องแพลตฟอร์ม GHG และ REC ที่ใช้นั้น เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ในภาพรวมเอสเอ็มอี 80 รายที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับอินโนพาวเวอร์ นั้น มีทั้งระดับกลาง ระดับเล็ก และเล็กมาก และมีความหลากหลาย มีทั้งโรงานถลุงทองแดง ออฟฟิศ สำนักงาน กลุ่มสหกรณ์ บริษัทที่เกี่ยวกับเทรดดิ้ง โดย เอสเอ็มอี ที่ทำเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอน จะช่วยให้ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ สามารถทำการลดคาร์บอน ในscope 3 ที่ต้องต่อเนื่องไปทั้ง value chain มีความชัดเจนขึ้น

แรงกดดันในเวทีโลกเรื่องการปรับลดคาร์บอนจะทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และได้เริ่มแล้วในบริษัทขนาดใหญ่ที่มี Value Chain ทั่วโลก ยกตัวอย่าง Apple ที่บรรลุเรื่อง carbon neutrality ของบริษัทไปตั้งแต่ปี 2020 และมีเป้าหมายที่จะทำเรื่องการลดคาร์บอนใน scope 3 ที่โยงไปทั้ง Value Chain ของบริษัทในปี 2030 ซึ่งหมายความว่า ต่อไปใครที่จะทำการซื้อขายกับ Apple  ก็จะต้องปรับลดคาร์บอนลงด้วย ซึ่งแนวโน้มในลักษณะนี้กำลังจะขยายไปในอุตสาหกรรมอื่นๆ จึงเป็นเรื่องที่ใครที่เตรียมความพร้อมได้ก่อน ก็จะได้รับประโยชน์ เพราะต้นทุนในการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ยังต่ำ

สำหรับการขยายเครือข่ายพันธมิตรไปสู่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล นั้น คุณธี เล่าว่าปีที่แล้วเป็นการเข้าไปช่วยในส่วนที่ทำเรื่อง ไบโอแมสให้มี REC เพื่อให้ธุรกิจมีเงินในการนำไปใช้ขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งให้บริการกับโรงไฟฟ้า 5 โรงในอุตสาหกรรม  ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลสามารถที่จะสื่อสารออกไปได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น และยังมีของเสียจากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายมาผลิตพลังงานสะอาดได้ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงการบริหารจัดการ carbon footprint อย่างมีประสิทธิภาพ  นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้กระบวนการขึ้นทะเบียน การขอใบรับรอง REC โดยที่ อินโนพาวเวอร์ช่วยเป็นพี่เลี้ยงอีกด้วย

คุณธี บอกถึงเป้าหมายในครึ่งหลังของปี 2567 ว่า ภารกิจพันธมิตรพิชิตคาร์บอน อยากจะขยายเป้าเพิ่มจาก 100 รายเป็น 200 ราย โดยขยายความร่วมมือไปในธุรกิจที่เป็นองค์กรขนาดเล็ก และอนาคตยังอยากให้เข้าถึงประชาชนทุกคนที่จะมาร่วมมือกันลดการปล่อยคาร์บอน โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้ทุกคนมีทางเลือกในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยที่ไม่ต้องลำบาก เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่ไปประกาศเจตนารมณ์เอาไว้ในเวทีโลกได้

Advertisment