เปิดร่าง AEDP2024 หนุนไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ลดบทบาทน้ำมันหลักเหลือเบนซิน E10 และดีเซล B7

1695
- Advertisment-

เปิดร่าง AEDP2024 หนุนไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 4.1 หมื่นเมกะวัตต์ แต่ภาคเชื้อเพลิงชีวภาพลดบทบาทน้ำมันหลักเหลือเบนซิน E10 และดีเซล B7

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2567 – 2580 (AEDP2024) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2567 – 2580 (EEP2024) ที่ห้องประชุมราชา 1 โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ซึ่งมีการเชิญองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน  พลังงานแสงอาทิตย์  ผู้ผลิตเอทานอล  อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน  เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง มาร่วมแสดงความคิดเห็นโดยตรง และผ่านระบบออนไลน์ โดยภาพรวมเห็นว่า ร่างแผน AEDP2024 ยังต้องมีการปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะบังคับใช้ ในส่วนของการเพิ่มศักยภาพพลังงานจากชีวมวล  ก๊าซชีวภาพ ให้มากขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมให้ E20 และ B20 เป็นน้ำมันหลักของประเทศ

- Advertisment -
วัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ร่างแผน AEDP2024 และ EEP2024 เป็นไปตามนโยบายแผนพลังงานชาติ ซึ่งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โดยสาระสำคัญของ ร่าง AEDP 2024 ได้กำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกร้อยละ 36 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ณ ปี พ.ศ. 2580 ในขณะที่การใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าทั้งจากภายในประเทศและซื้อจากต่างประเทศนั้น จะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 61 สูงกว่าไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่มีสัดส่วนร้อยละ 39 ซึ่งไฟฟ้าที่มาจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จะมีกำลังการผลิตรวม 73,286 เมกะวัตต์ เป็นพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุด รวม 41,763 เมกะวัตต์ ( เป็นพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ 2,789 เมกะวัตต์ ) รองลงมาคือ พลังงานลม 9,379 เมกะวัตต์  และ ชีวมวล 5,490 เมกะวัตต์   ส่วนพลังน้ำนำเข้าจากต่างประเทศ มีจำนวน 10,295 เมกะวัตต์   ส่วนเป้าหมายการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ  นั้น จะลดชนิดน้ำมันในแต่ละกลุ่มของการขนส่งทางถนน  โดยกลุ่มดีเซลจะส่งเสริม B7 เป็นน้ำมันหลัก ตั้งเป้า 2.46 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนกลุ่มเบนซิน จะส่งเสริม E10 เป็นน้ำมันหลัก ตั้งเป้า1.55 ล้านลิตรต่อวัน  ส่วนการส่งเสริมเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF)ตั้งเป้า 1.85 ล้านลิตรต่อวัน และการส่งเสริมเชื้อเพลิงทางเลือกเช่นไฮโดรเจนสำหรับการขนส่ง ตั้งเป้า 1,395 ตันในปี 2580

ทั้งนีัการพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ตาม AEDP 2024 นี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ 20,000 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) เทียบเท่ามูลค่าการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ไม่น้อยกว่า 400,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 7,000 อัตรา เกิดมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท สร้างรายได้ทางการเกษตรจากการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพได้ไม่น้อยกว่า 41,000 ล้านบาท/ปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในภาคพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 75 Mt-CO2 (ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) ในปี พ.ศ. 2580 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2565

สำหรับร่างแผน EEP2024 ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมจากแผน EEP2018 โดยปรับเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานลดความเข้มการใช้พลังงาน Energy Intensity เป็น 36% ในปี พ.ศ.2580 หรือคิดเป็นพลังงานที่คาดว่าจะลดได้ 35,497 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) คิดเป็นมูลค่า 532,455 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 106 Mt-CO2 (ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า)

 โดยได้กำหนดมาตรการที่สำคัญไว้อย่างรอบด้านและครอบคลุมทุกภาคส่วน ได้แก่ การกำกับดูแลตามกฎหมายโรงงาน/อาคารควบคุม เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code) การส่งเสริมมาตรฐานอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและฉลากเบอร์ 5 การส่งเสริมบ้านประหยัดพลังงาน การอนุรักษ์พลังงานในภาคเกษตรกรรม Smart Farming และเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในภาคขนส่ง พร้อมทั้งมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตไฟฟ้า ระบบโครงข่ายไฟฟ้า และการใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ผู้ที่สนใจสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ทาง QR code ลงทะเบียนและช่องทางออนไลน์ของ พพ. ได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 โดยหลังจากนี้ ทาง พพ. จะได้รวบรวมข้อเสนอแนะและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ จัดทำร่างแผน AEDP2024 และ EEP2024 ให้สมบูรณ์เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ให้ความเห็นชอบต่อไป

สำหรับเวทีเปิดแสดงความคิดเห็นที่มีนายพงษ์ศักดิ์ พรหมกร ผู้อำนวยการกองวิจัย ค้นคว้าพลังงาน  นายวัชรินทร์​ บุญฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์  นาย อดิศักดิ์​  ชูสุข​ ผู้อำนวยการกองพัฒนาพลังงานทดแทน และนางสาวสุทิศา  ไตรชัชวาล  ผู้อำนวยการกองพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ  จาก พพ.  ร่วมรับฟังและตอบคำถามประเด็นข้อสงสัย ซึ่งมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจ อาทิ

ดร.ดุสิต​ เครืองาม  ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานแสงอาทิตย์

ดร.ดุสิต​ เครืองาม  ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานแสงอาทิตย์ แสดงความเห็นสนับสนุนร่างแผน AEDP​2024​  ที่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ มากกว่าแผน AEDP​2018 ฉบับก่อนหน้าถึง 4 เท่า แต่ยังเห็นว่า ศักยภาพจริงของพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา และ พลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำมีมากกว่าที่บรรจุไว้ในแผนจึงน่าจะสามารถปรับตัวเลขให้สูงขึ้นได้อีก 

นที​  สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

นาย นที​  สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอแนะให้นำเรื่อง สัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงหรือ Direct PPA ที่จะจูงใจนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด 100% เข้ามาบรรจุไว้ในแผน AEDP​2024​ และเห็นว่ารัฐควรจะสนับสนุนศักยภาพของเชื้อเพลิงจากชีวมวลให้มากขึ้น โดยต่อสัญญาโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใกล้จะหมดอายุ เพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจฐานราก มากกว่าพลังงานที่ไม่มีเชื้อเพลิง(แสงอาทิตย์+ลม)  

รังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย

นาย รังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย แสดงความไม่เห็นด้วยที่ ร่าง AEDP​2024​ ลดการส่งเสริมเอทานอลในน้ำมันเบนซิน เหลือเพียง E10 ทั้งๆที่ควรจะเป็น E20 โดยการส่งสัญญาณลดการใช้เอทานอลในประเทศลงนั้น ทำให้ผู้ส่งออกถูกประเทศจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ กดราคา  

เขาอธิบายว่า ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ดังนั้น AEDP​2024​ ควรจะส่งเสริมการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรให้มากที่สุด และสร้างเสถียรภาพด้านราคา ดีกว่าไปส่งเสริมพลังงานทดแทนที่ต้องนำเข้าเทคโนโลโลยีจากต่างประเทศเข้ามาเกือบทั้งหมด และทำให้ประเทศขาดดุลการค้า นอกจากนี้ การวางนโยบายและแผนของกระทรวงพลังงาน ยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  โดยในประเด็นนี้ นางสาวสุทิศา  ไตรชัชวาล ผู้อำนวยการกองพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ ของ พพ.ได้ชี้แจงว่าการวางแผนด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ มีการทำงานเชื่อมโยงกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 

นายเจษฎา ว่องวัฒนะสิน นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย

นายเจษฎา ว่องวัฒนะสิน นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับนายรังษี ว่าไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม​ เป็น ​Bio​ Economy​  ซึ่งร่างแผน AEDP​ 2024​ ที่ลดชนิดน้ำมันเบนซิน เป็น E10 ไม่ใช่การส่งเสริม​ แต่เป็นการทำลาย  และไปผิดทาง เพราะจากที่เคยผลิตเอทานอลวันละ 4 ล้านลิตรต่อวัน จะลดลงเหลือ ล้านกว่าลิตรต่อวัน เท่านั้น

อาทิตย์​  เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

นาย อาทิตย์​  เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความเห็นว่า ร่างแผน AEDP​2024​ มีความสำคัญอย่างมากและเป็นความอยู่รอดของประเทศ​ เพราะหากไทยไม่มีแผนที่มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ที่จะทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ทั้งภาคการผลิต การส่งออก การท่องเที่ยว ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็จะไปต่อไม่ได้ ถ้าประเทศไม่มีแหล่งพลังงานสะอาดที่เพียงพอ​ เพื่อมารองรับความต้องการของนักลงทุนต่างประเทศ​  นอกจากนี้ยังเสนอให้รัฐเร่งปลดล็อกเรื่อง ใบอนุญาต รง.4​  (กรมโรงงานอุตสาหกรรม ) ที่เป็นกฏระเบียบซึ่งเป็นอุปสรรคต่อเอกชนในการลงทุนพลังงานหมุนเวียน

Advertisment