สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) สนับสนุนนิสิต นักศึกษา พัฒนาทักษะการสื่อสาร แจก 6 รางวัล รวมมูลค่ากว่า 70,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร ให้แก่ผู้ชนะการแข่งขันการนำเสนอโครงงานวิศวกรรมด้านไฟฟ้าและพลังงาน IEEE PES 5-minute student project pitch (5MSPP) competition 2024 หรือ 5MSPP 2024 เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตและนักศึกษาที่จะเป็นวิศวกรในอนาคต ได้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติและพัฒนาทักษะการนำเสนอผลงานในรูปแบบที่กระชับและมีประสิทธิภาพ
สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) ได้เล็งเห็นความสำคัญของทักษะการสื่อสาร (Communication Skills) ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับนิสิต นักศึกษา และวิศวกรในศตวรรษที่ 21 จึงได้จัดโครงการ IEEE PES 5-minute student project pitch (5MSPP) competition 2024 หรือ 5MSPP 2024 เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ที่ใกล้สำเร็จการศึกษาและกำลังจะเป็นวิศวกรในอนาคต ได้มีโอกาสปฏิบัติงานและพัฒนาทักษะการนำเสนอผลงานในรูปแบบที่กระชับและมีประสิทธิภาพ เพราะการนำเสนอผลงานต่อผู้คนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอในชีวิตการทำงานของวิศวกร การแข่งขันการนำเสนอโครงงานวิศวกรรมของนิสิต นักศึกษา 5MSPP ในครั้งนี้ จึงถูกจัดขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์อันมีค่าให้แก่ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ที่จะได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะการสื่อสารความคิดด้วยคำพูด ประกอบกับการใช้สื่อการนำเสนออิเล็กทรอนิกส์ที่กระชับและมีประสิทธิภาพดังกล่าว
โดยสมาคมฯ ได้เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ทำโครงงานวิศวกรรมด้านไฟฟ้าและพลังงาน รวมเป็นทีมได้ทีมละไม่เกิน 2 คน และสมัครเข้าร่วมการแข่งขันโดยการนำเสนอข้อเสนอโครงงาน (Project Proposal) ในรูปแบบคลิปวิดีโอที่มีความยาวไม่เกิน 5 นาที โดยผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านการประเมินโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิจากสมาคมฯ จะต้องส่งสรุปย่อโครงงาน (Project Summary) ไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ A4 สำหรับการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย และในการแข่งขันรอบสุดท้าย ผู้เข้าแข่งขันจะต้องเตรียม โปสเตอร์นำเสนอโครงงานขนาด และ ไฟล์การนำเสนอโครงงานในรูปแบบ PowerPoint สำหรับการนำเสนอ 5 นาที โดยการนำเสนอที่ใช้เวลาเกิน 5 นาที จะถูกปรับแพ้
ทั้งนี้ ผลการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ 5MSPP 2024 ที่จัดขึ้น ณ การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่คลองเตย กรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (23 เมษายน 2567) มีดังนี้
รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร ได้แก่ ทีม CO2U จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาชิกในทีมประกอบด้วย นางสาวสิริกัญญ์ หอมแก่นจันทร์และนางสาวจิรัชญา พุทธา อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ดร.เนาวรัตน์ เทพหริรักษ์ และ รศ.ดร.ศิวพล ศรีสนพันธุ์ นำเสนอเรื่อง การศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาจากการคายประจุไฟฟ้าสำหรับการปรับปรุงคุณภาพอากาศ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร ได้แก่ ทีม Solar Rooftop Business Model จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาชิกในทีมได้แก่นางสาวพัชรามาศ สุขศรี และนายสารัช บุญบำเรอ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ดร.เนาวรัตน์ เทพหริรักษ์ นำเสนอเรื่อง การศึกษาแผนการดำเนินธุรกิจของพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร ได้แก่ ทีม Energy Ladkrabang จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยสมาชิกในทีมได้แก่ นางสาวรัชประภา แสงจันทร์ และนายภูชิต ฝอฝน อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ดร.ธีรพล โพธิ์พงศ์วิวัฒน์ เรื่องที่นำเสนอคือ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำที่โรงงานผลิตน้ำสามเสน โรง 2
สำหรับรางวัลชมเชย ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร มี 3 รางวัล ได้แก่ 1. ทีม Gateway จาก มหาวิทยาลัยนเรศวร สมาชิกประกอบด้วยนางสาวธัญจิรา มาสีกุก และนางสาวสุนิกานต์ ทองสี อาจารย์ที่ปรึกษา อ.ดร.เศรษฐา ตั้งค้าวานิช นำเสนอเรื่อง แพลตฟอร์มเกตเวย์สำหรับระบบจัดการพลังงานที่มีการเชื่อมต่อแหล่งจ่ายไฟฟ้าแบบหลากหลาย 2. ทีม TU Connext จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกได้แก่นายปราการ อิงคเตชะ และ นายธรีธนศิฐ พิมหะศิริ อาจารย์ที่ปรึกษา ศ.ดร.พิชัย อารีย์ นำเสนอเรื่อง การจำลองการควบคุมกริดอินเวอร์เตอร์ด้วยเทคโนโลยี HIL/RCP และ 3.ทีม E05 is not a place, it’s a people จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาชิกประกอบด้วยนายณฏฐกร สุขมานนท์ และ นายกฤษณพงศ์ สังข์แก้ว อาจารย์ที่ปรึกษา อ.ดร.ธงชาติ เกิดผล นำเสนอเรื่อง การศึกษาและปรับปรุงเสถียรภาพของกริดขนาดเล็กที่มีอัตราส่วนพลังงานทดแทนในระดับสูง
ทั้งนี้ ผู้เข้าแข่งขันรอบสุดท้ายทุกคนจะได้รับประกาศนียบัตรจากสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย)