รองปลัดกระทรวงพลังงาน หวังรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่สานต่อนโยบายไบโอดีเซล B20 และB10 หลังทุกฝ่ายทั้งรัฐและเอกชนร่วมผลักดันมานาน ด้านสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซล 3 ประเทศ ประกอบด้วยไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย จับมือเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอดีเซล เป็นครั้งที่ 2 เพื่อนำไปพัฒนาในประเทศตัวเอง เผยปี 2563 มาเลเซียก้าวสู่การใช้ไบโอดีเซล B20 ขณะที่อินโดนีเซียเพิ่มเป็น B30 และไทยจะใช้ B10 เป็นเกรดมาตรฐาน
นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานเสวนา “2nd Palm Biodiesel Conference-Keeping Momentum & Overcome the Challenges” ว่า ในความเห็นส่วนตัวหวังว่ารัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ จะสานต่อนโยบายการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10(น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 10%ในทุกลิตร)เป็นเกรดมาตรฐานแทนน้ำมันไบโอดีเซลB7(น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 7%ในทุกลิตร) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศมากขึ้น และยังผลักดันการใช้น้ำมันไบโอดีเซลB20(น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 20%ในทุกลิตร)ต่อไป เนื่องจากนโยบายดังกล่าวมีการวางแผนและดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนมาเป็นเวลานานจนเกิดขึ้นได้จริงในปัจจุบัน และเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนปาล์มไทย ดังนั้นเชื่อว่ารัฐมนตรีพลังงานคนใหม่จะไม่ยกเลิกนโยบายดังกล่าว
ทั้งนี้เห็นว่าความไม่ชัดเจนทางด้านนโยบายและการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงานทดแทนบ่อยเกินไปในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะไม่ส่งผลดีต่อประเทศ ทั้งด้านการลงทุน การผลิต และการใช้ปาล์มของไทย ดังนั้นการส่งเสริมน้ำมันไบโอดีเซลในประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน รัฐบาลจำเป็นต้องกำหนดนโยบายให้ชัดเจนและต่อเนื่องเป็นสำคัญ
นอกจากนี้มั่นใจว่าผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% หรือ B100 จะปรับเปลี่ยนคุณภาพให้ได้มาตรฐานตามที่สมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (JAMA) กำหนดได้ทันวันที่ 1 พ.ย. 2563 ซึ่งเป็นวันที่กระทรวงพลังงานจะกำหนดให้ไทยใช้น้ำมันดีเซล B10 เป็นเกรดมาตรฐานของประเทศ
นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย กล่าวว่า สมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลมาเลเซียและอินโดนีเซีย จัดประชุมร่วมกันเป็นครั้งที่ 2 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์และประสบการณ์ด้านน้ำมันปาล์มร่วมกันสำหรับนำไปปรับใช้ในประเทศตัวเอง ทั้งนี้อินโดนีเซียและมาเลเซียเคยมีแนวคิดจะรวมตัวกันเพื่อกำหนดและควบคุมการผลิตน้ำมันปาล์มให้ได้เหมือนกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบ(โอเปก) แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากปัจจุบันภายในประเทศมีความแตกต่างกัน ทั้งด้านการผลิตและการใช้ รวมทั้งยังมีน้ำมันจากพืชอื่นมาแทนได้ จึงไม่สามารถควบคุมราคาและการผลิตได้
อย่างไรก็ตามในปี 2563 ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีเป้าหมายจะใช้น้ำมันไบโอดีเซลสูงขึ้น โดยประเทศอินโดนีเซียกำหนดให้ใช้ B30 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 30%ในทุกลิตร) แทนไบโอดีเซลB20 ส่วนประเทศมาเลเซียมีเป้าหมายใช้B20 แทน B10 ในปัจจุบัน ขณะที่ไทยจะก้าวไปสู่การใช้น้ำมันไบโอดีเซลB10 แทน B7 ในปัจจุบัน
สำหรับปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ(CPO)อยู่ 3 ล้านตันต่อปี ส่วนมาเลเซียผลิตอยู่ 20 ล้านตันต่อปี และอินโดนีเซีย ผลิตอยู่ 40 ล้านตันต่อปี โดยราคา CPO มาเลเซียและอินโดนีเซีย ปัจจุบันอยู่ที่ 15-16 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนไทยราคาอยู่ที่ 21-22 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากไทยผลักดันการใช้CPO ในประเทศมากขึ้น ส่วนราคา B100 อยู่ที่ 23-24 บาทต่อลิตร โดยไทยมีผู้ผลิตไบโอดีเซลอยู่ที่ 13 ราย มีกำลังการผลิตรวม 8 ล้านลิตรต่อวัน โดยปัจจุบันมีการใช้อยู่ 4.6-4.8 ล้านลิตรต่อวัน
ทั้งนี้สมาคมฯ กำลังพยายามผลักดันให้ภาครัฐออก พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมัน เพื่อจัดตั้งกองทุนปาล์มน้ำมัน มาบริหารจัดการไบโอดีเซลให้เกิดความยั่งยืนทั้งระบบ โดยเก็บเงินจากภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงสกัด ผู้ผลิต B100 และผู้ส่งออก เป็นต้น และนำเงินที่ได้ไปอุดหนุนราคาในช่วงที่ราคาปาล์มตกต่ำ และอีกส่วนหนึ่งนำมาใช้สำหรับให้ความรู้เกษตรกร เนื่องจากเห็นว่าต่อไป พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะไม่อนุญาตให้นำเงินมาอุดหนุนราคาพลังงานทดแทนอีก ดังนั้นหากมีกองทุนปาล์มน้ำมันขึ้นมาดูแลแทนจะช่วยให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งขณะนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการของภาครัฐ