OCA ไทย-กัมพูชา ยิ่งยื้อเวลา ยิ่งเสียโอกาสพัฒนาประเทศ

803
- Advertisment-

ประเด็นการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ของไทยกับกัมพูชา ( Overlapping Claims Area หรือ OCA ) มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทั้งไทยและกัมพูชา ในสถานการณ์ที่ทั้งสองประเทศต้องเผชิญกับพลังงานราคาแพงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยระยะเวลาที่ถูกยื้อมานาน นับตั้งแต่ที่สามารถทำข้อตกลงความร่วมมือกันได้เมื่อปี 2544 ที่แทบไม่มีความคืบหน้าเลยจนถึงปัจจุบัน เท่ากับเป็นการทิ้งโอกาสการพัฒนาประเทศ ในจังหวะที่ยังมีความต้องการใช้ทรัพยากรก๊าซธรรมชาติ และมีโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มรองรับ

โดยพื้นที่ OCA ที่มีขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร นั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติของไทยมีการประเมินว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงที่จะสำรวจพบปิโตรเลียม เพราะโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติของไทยยืนยันว่าเป็นแอ่งปัตตานี เช่นเดียวกับแหล่งเอราวัณ ปลาทอง ไพลิน ฟูนัน บรรพต ในอ่าวไทยที่ผลิตก๊าซธรรมชาติในเชิงพาณิชย์มาจนสิ้นสุดอายุสัมปทาน 50 ปี ก็ยังมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติเหลืออยู่ โดยหากพัฒนาการผลิตปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ ก็จะสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ สามารถแก้ปัญหาความมั่นคงทางพลังงาน และพลังงานราคาแพงให้กับประชาชนได้ในระยะยาว  

และหากมองเปรียบเทียบปัจจัยที่ช่วยให้การเจรจาเรื่องของ OCA ประสบความสำเร็จ ระหว่างรัฐบาลเศรษฐากับรัฐบาลชุดอื่นๆ ที่ผ่านมา นับตั้งแต่การลงนาม MOU 2544 ก็ถือได้ว่ารัฐบาลเศรษฐามีโอกาสสูงมากที่จะทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ เพราะได้ประกาศเป็นนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วน  อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเศรษฐากับรัฐบาลฮุน มาเน็ต ถือว่าแนบแน่น ต่างฝ่ายต่างได้รับการเชื้อเชิญให้ไปเยือนกันอย่างเป็นทางการกันมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ( Joint Technical Committee – JTC ) ชุดใหม่ เพื่อเป็นกลไกในการเจรจาเดินหน้าสู่เป้าหมายเท่านั้น ในขณะที่ถึงแม้จะมีกระแสของการคัดค้านด้วยข้อกังวลเรื่องการเสียอธิปไตยเหนือดินแดนเกาะกูด หรือข้อเรียกร้องที่ให้เจรจาเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนให้จบก่อนแล้วค่อยเจรจาเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่พัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน แต่ดูเหมือนว่ากระแสการสนับสนุน โดยมุ่งไปที่เรื่องของการพัฒนาพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมร่วมกันจะมีเสียงที่ดังและได้รับการตอบรับมากกว่า

- Advertisment -

โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำโดย คุณนิพัฒน์สิน ยิ้มแย้ม ในบทบาทประธานกลุ่มนั้น มีข้อเสนอที่ชัดเจนในเวทีของคณะกรรมาธิการต่างประเทศ  สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ใน 6 เรื่องสำคัญได้แก่ 1. รายได้จากค่าภาคหลวง Profit Sharing และภาษีเมื่อมีการผลิตปิโตรเลียมจากพื้นที่ดังกล่าวขึ้นมาใช้ประโยชน์ 2. การได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศที่จะช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าปิโตรเลียม 3. การสร้างความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงาน และเสถียรภาพด้านราคาที่จะส่งผลดีต่อราคาพลังงานของผู้บริโภคในประเทศ 4. การสร้างเศรษฐกิจกับอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและกิจกรรมสนับสนุนไปตลอด Value Chain 5. การดึงดูดการลงทุน Direct Investment จากบริษัทพลังงานและอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง 6. การเพิ่มการจ้างงานที่มีทักษะฝีมือให้กับคนไทย

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม ส.อ.ท. ยังสนับสนุนให้ภาครัฐเร่งเจรจาเรื่อง OCA ให้มีข้อยุติโดยเร็ว เพื่อเริ่มต้นกระบวนการเข้าไปสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ โดยที่ยังไม่ต้องเจรจาหาข้อยุติเรื่องการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดน ซึ่งหมายถึง การเน้นไปเจรจาในส่วนของพื้นที่ประมาณ 16,000 ตารางกิโลเมตร กำหนดให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกัน (Joint Development Area หรือ JDA) ให้ได้ข้อยุติ ส่วนพื้นที่ตอนบนที่อยู่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ที่มีขนาดประมาณ 10,000 ตารางกิโลเมตร ที่กำหนดให้มีการเจรจาแบ่งเขตแดน ตาม MOU 2544 นั้นก็เจรจาควบคู่กันไปได้เรื่อยๆ เพราะไม่ได้ระบุไว้ใน MOU ว่าการเจรจาพื้นที่ทั้ง 2 ส่วนคู่ขนานกันไปนั้น จะต้องได้ข้อยุติพร้อมกัน

มุมมองของนักวิชาการด้านพลังงานท่านหนึ่ง ให้ทรรศนะที่น่าสนใจว่า ประเด็นที่รัฐบาล ไทย-กัมพูชา ต้องการในพื้นที่ OCA ไม่ใช่เส้นแบ่งเขตแดนว่าใครควรจะได้พื้นที่มากกว่า แต่ต้องการพัฒนาโดยนำปิโตรเลียมในพื้นที่ขึ้นมาใช้ประโยชน์  ที่เดิมแต่ละประเทศต่างเคยให้สิทธิเอกชนเข้าไปดำเนินการ จึงเป็นเรื่องที่ทั้งรัฐและเอกชนทั้ง 2 ฝ่ายต้องเจรจากัน    โดยก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่เชื้อเพลิงทดแทนอื่นๆ ที่สะอาดกว่า หรือเรียกว่าช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ที่ประเมินว่าก๊าซธรรมชาติจะยังมีความสำคัญไปอีกประมาณ 30 ปี หากยิ่งมีความพยายามที่จะยื้อเวลาด้วยการปลุกกระแสความรักชาติ สร้างความกลัวเรื่องการเสียดินแดนเกาะกูด ก็จะยิ่งเป็นการทำลายโอกาสการนำทรัพยากรของประเทศมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ทำให้ประเทศเสียโอกาสการพัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น โมเดลพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย ที่ได้ข้อยุติด้วยการเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม Joint Development Area -JDA ที่ผลิตก๊าซธรรมชาติสร้างประโยชน์ให้กับทั้งไทยและมาเลเซียในปัจจุบัน น่าจะเป็นคำตอบที่เป็นรูปธรรมให้ทุกคนได้เห็น  

Advertisment