สัญญา Adder ทยอยหมดอายุ ต้นทุนค่าไฟฟ้าพลังงานทดแทนงวด พ.ค.-ส.ค. 2567 ปรับลดลงเหลือ 15.68 สตางค์ต่อหน่วย

2048
- Advertisment-

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เผยต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่รวมในค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 ปรับลดลงเหลือ 15.68 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นค่าไฟฟ้า 10,703 ล้านบาท เนื่องจากโรงไฟฟ้าเก่าทยอยหมดสัญญา Adder และต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลง ขณะที่กระทรวงพลังงานเตรียมหารือแก้ปัญหาต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงจากโรงไฟฟ้าเก่าที่ได้รับ Adder 8 บาทต่อหน่วย ที่ยังผลิตไฟฟ้าต่อแม้สัญญา Adder จะหมดลงแล้ว    

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ผูกรวมอยู่ในค่าไฟฟ้า งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 ที่จะถึงนี้ ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พบว่าจากมาตรการให้เงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) และเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ยังคงส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.- ส.ค. 2567 คิดเป็น 15.68 สตางค์ต่อหน่วย หรือรวมเป็น 10,703 ล้านบาท ที่ประชาชนต้องจ่ายรวมในค่าไฟฟ้าด้วย

อย่างไรก็ตามนับเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ลดลงจากงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ที่มีต้นทุนสูงถึง 18.71 สตางค์ต่อหน่วย หรือรวมเป็น 11,768 ล้านบาท ซึ่งลดลงประมาณ 3 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องมาจากสัญญา Adder ได้ทยอยหมดอายุลง ประกอบกับราคาค่าไฟฟ้าขายส่งที่ลดลงจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่ปรับลดลง

- Advertisment -

สำหรับต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่แพงที่สุด อยู่ที่ปี 2563 โดยมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 30.18 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นราคา 52,167 ล้านบาท  

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า สัญญา Adder หรือ “เงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า” เริ่มทำมาตั้งแต่ประมาณปี 2550 และเริ่มผลิตไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี 2554 มีอายุสัญญาประมาณ 10 ปี ซึ่งกำหนดให้ราคา Adder อยู่ที่ 8 บาทต่อหน่วย และลดลงเหลือ 6.50 บาทต่อหน่วยในภายหลัง โดยผู้ผลิตไฟฟ้าจะได้ค่าไฟฟ้าแยกเป็น 2 ส่วนคือ 1. ค่าไฟฟ้าขายส่ง ซึ่งเป็นค่าไฟฟ้าตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง 2. ค่า Adder ที่ 8 หรือ 6.50 บาทต่อหน่วย ซึ่ง Adder โครงการสุดท้ายที่เข้าระบบจะสิ้นสุดในปี 2570

ดังนั้น Adder ที่ทยอยหมดอายุลงจึงส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่มาจากไฟฟ้าพลังงานทดแทนลดลงไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าที่ได้ Adder ยังคงมีสัญญาผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง แม้สัญญา Adder จะหมดลง แต่จะได้รับเฉพาะเงินจากราคาต้นทุนค่าไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว (ค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีเก่า จะมีต้นทุนแพงกว่าโรงไฟฟ้าใหม่)  

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานได้รับทราบปัญหาต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงที่มาจากโรงไฟฟ้าเก่าที่ได้รับ Adder และอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากโรงไฟฟ้าเก่าดังกล่าวจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 20-25 ปี หรือจนกว่าโรงไฟฟ้าจะหมดอายุลง แม้จะไม่ได้รับ Adder แล้วก็ตาม แต่โรงไฟฟ้าบางแห่งยังได้ปรับเปลี่ยนอะไหล่จนทำให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ยาวนานเกินกว่าอายุโรงไฟฟ้า ซึ่งจะกลายเป็นภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าประชาชนที่ต้องซื้อไฟฟ้าราคาแพงกว่าโรงไฟฟ้าใหม่

อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานจะพิจารณาว่าควรดำเนินการอย่างไร เพื่อให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบในราคาที่ลดลง เช่น การนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองแทนการขายเข้าระบบ หรือเจรจาปรับลดค่าไฟฟ้าลงเพื่อให้เข้าร่วมโครงการไฟฟ้าสีเขียวในอนาคตที่กำหนดราคาขายไฟฟ้าไม่แพง เป็นต้น

Advertisment